... ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 4% ของ GDP ในช่วงปี 2518-2532 แต่หลังจากนั้น การขาดดุลมีมากขึ้นถึง 7% ของ GDP ต่อปี ก่อนปี 2540 ซึ่งในขณะนั้น ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ที่ระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและเป็นเวลานาน แสดงว่า ไทยส่งออกสินค้าน้อยกว่านำเข้ามาหลายปี หมายถึง ความต้องการเงินบาทน้อยลงไปอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลง เมื่อพิจารณาค่าเงินบาทแท้จริง ซึ่งคือ ระดับราคาเปรียบเทียบของไทยกับของสหรัฐฯ จะพบว่า เงินบาทแท้จริงแข็งค่าขึ้นมาก
กล่าวคือ สินค้าไทยแพงขึ้นมากโดยการเปรียบเทียบ ทำให้การส่งออกของไทยลดลง การรักษาเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่ามากเกินจริง (Overvalued) การปกป้องค่าเงินทำให้สูญเสียเงินทุนสำรอง เงินทุนสำรองที่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง และคือ การส่งสัญญาณให้มีการเก็งกำไรจากเงินบาทที่จะอ่อนค่าในอนาคต
เมื่อเงินทุนสำรองมีไม่เพียงพอ จึงต้องยอมให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดในปี 2540 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงทันที และอ่อนลงเรื่อย ๆ จนถึง 53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 2541
บัญชีเดินสะพัดเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน ซึ่งบันทึกการรับและการจ่ายจากธุรกรรมแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ดุลการชำระเงินประกอบไปด้วย บัญชีเดินสะพัดและบัญชีเงินทุน หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "บัญชีทุนเคลื่อนย้าย" บัญชีเดินสะพัดครอบคลุมดุลการค้า ซึ่งคือ รายได้สุทธิจากการนำเข้าส่งออก และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ซึ่งคือ รายได้สุทธิของการบริการระหว่างประเทศ อาทิ ขนส่ง ท่องเที่ยว ผลตอบแทนการจ้างงาน รายได้จากการลงทุน และเงินโอนจากต่างประเทศ
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเคลื่อนไหวในทางเดียวกับดุลการค้า เพราะว่ารายได้ของไทยส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ในขณะที่ บัญชีเงินทุน หมายถึง ธุรกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น ในตราสารทุน ตราสารหนี้ อนุพันธ์ทางการเงิน เงินฝาก เงินกู้ รวมไปถึงการซื้อขายทรัพย์สินที่ผลิตขึ้นไม่ได้ และไม่ใช่ทรัพย์สินทางการเงิน เช่น ที่ดิน และสิทธิบัตร เป็นต้น
เนื่องจากว่า ดุลการชำระเงินบันทึกรายรับและรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศ ผลรวมของบัญชีเดินสะพัดกับบัญชีเงินทุนจึงเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสุทธิของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อประเทศขาดดุลการชำระเงิน ผลคือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง หรือกล่าวคือ ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน
บัญชีเดินสะพัดจึงมีความสำคัญและบอกถึงความแตกต่างระหว่างรายได้ของประเทศกับรายจ่ายในประเทศ เมื่อประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจึงหมายถึงรายได้ของประเทศน้อยกว่ารายจ่ายในประเทศ ทำให้ประเทศต้องกู้เพื่อใช้จ่าย หรือ มีสินทรัพย์ต่างชาติลดลง
นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดยังถูกมองได้ว่าเป็นผลต่างของการออมกับการลงทุน เมื่อการออมน้อยกว่าการลงทุน บัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล หรือ ประเทศลดการถือครองสินทรัพย์ต่างชาติ การลงทุนส่วนเกินได้มาจากการกู้จากต่างประเทศ ในมุมมองระยะยาว ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนไหลเข้า นำเข้าสินค้าบริโภคอุปโภค หรือ บัญชีเดินสะพัดขาดดุลในช่วงเริ่มต้น ของความพยายามพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปัญหาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่สูงมากจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเงินที่เข้าประเทศก่อให้เกิดโครงการลงทุนในประเทศที่มีประสิทธิภาพ มีการส่งผ่านทางเทคโนโลยี สร้างการจ้างงานและรายได้ให้กับประเทศ ต่อมาจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการพึ่งพาทุนต่างชาติ และสามารถเปลี่ยนสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดจากขาดดุลมาเป็นเกินดุลได้
สำหรับ "ประเทศไทย" หลังจากปี 2540 เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ประเทศไทยส่งออกได้มากขึ้น การส่งออกในช่วง 2547-2560 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 70% ของ GDP เป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2558-2560 เกินดุลเฉลี่ยถึง 10.25% ต่อปี ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศมั่นคงขึ้น แต่ก็มีบางปีที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ปี 2555 กับ 2556 เฉลี่ย 1% ต่อปีของ GDP
เนื่องมาจากช่วง 2 ปีนั้น มีการนำเข้าทองคำที่สูง นโยบายทางการเงินของไทยแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยพยายามรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก ช่วยทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุล
อย่างไรก็ตาม การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงและนาน ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาที่แตกต่างจากปัญหาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการออมของประเทศถูกแบ่งเป็นการสะสมสินทรัพย์ต่างชาติกับการลงทุนในประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจึงสะท้อนถึงการลงทุนในประเทศที่ลดลง
ประเทศไทย 10 ปีก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 38% ต่อปี แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน การลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 24% ของ GDP และในปี 2558-2560 มีการลงทุนเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 22% ของ GDP และเงินออมมากกว่าการลงทุนในประเทศเฉลี่ยถึงปีละ 1.5 ล้านล้านบาท แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับตํ่าแต่การออมก็ยังสูงกว่าการลงทุน
มีหลายเหตุผลที่การออมในประเทศควรจะนำไปสู่การลงทุนในประเทศที่สูงขึ้นและลดการไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ผลตอบแทนของการลงทุนในประเทศอาจจะเก็บภาษีได้ง่ายกว่าผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศ การสะสมทุนเพิ่มขึ้นในประเทศ อาจทำให้การว่างงานในประเทศลดลงนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประเทศมากกว่าการลงทุนภายในประเทศของบริษัทหนึ่ง อาจมีผลกระทบต่อการส่งผ่านทางเทคโนโลยีไปยังผู้ผลิตภายในประเทศรายอื่น ๆ
นอกจากนี้ ถ้าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นถึงการปล่อยกู้ให้กับต่างชาติอย่างมาก ในอนาคต ประเทศเกินดุลอาจพบว่ายากในการที่จะเรียกเงินคืนมาได้ทั้งหมด หรือ ประเทศอาจสูญเสียสินทรัพย์ หรือ ความมั่งคั่งต่างชาติ ในทางตรงกันข้าม เงินกู้ที่ไม่สามารถจะจ่ายคืนได้ของคนในชาติเอง นำไปสู่การกระจายตัวของความมั่งคั่งภายในประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้ระดับความมั่งคั่งของชาติเปลี่ยน
นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากเกินไป อาจเป็นเป้าหมายให้เกิดการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก อาทิเช่น ในกรณีของจีนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกับสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ พยายามสร้างอุปสรรคการนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดจึงพยายามรักษาการเกินดุลไม่ให้สูงเกินไป
ดังนั้น การเกินดุลบัญชีของไทยควรจะต้องถูกควบคุมไม่ให้มีมากเกินไป และที่สำคัญ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการลงทุนในประเทศที่น้อยเกินไป
| โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3460 ระหว่างวันที่ 11 - 13 เมษายน 2562