หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Asian Century หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย คำนี้เกิดมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทที่สำคัญมากในเศรษฐกิจโลกในช่วงศตวรรษที่ 21 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน และประเทศอินเดีย
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้ให้ความสนใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย และได้พยายามหาเหตุผลต่างๆ เพื่อมาอธิบายการเติบโตที่รวดเร็วนี้ โดยมีการกล่าวกันว่า ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ คือ การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตและการค้าระหว่างประเทศจากการเปิดเสรีทางการค้าที่มากขึ้น เน้นการใช้กลยุทธ์การส่งออก (export-led growth strategy) เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งกลยุทธ์การเปิดประเทศที่มากขึ้นนี้ ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ อันนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพอีกทอดหนึ่ง
ผู้เขียนจึงศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยเฉพาะในภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ (tradable sector) ของ 8 ประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย ประกอบด้วย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปากีสถาน และศรีลังกา ที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศเหล่านี้ และการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในตลาดโลกหรือไม่ อย่างไร
ข้อมูลที่ใช้ศึกษาส่วนใหญ่มาจากฐานข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเป็นข้อมูลรายปีระหว่าง ค.ศ. 1970-2016 ของ 16 ประเทศพัฒนาแล้ว และ 14 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ประกอบด้วยตัวแปรมหภาคหลักๆ คือ ดัชนีที่ใช้วัดผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (real GDP) อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (real effective exchange rate) สัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP และ อัตราเงินเฟ้อ
ผู้เขียนสร้างแบบจำลองทางเศรษฐมิติอันประกอบไปด้วย 30 ประเทศมาใช้ในการวิเคราะห์ โดยผู้เขียนพบว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศของประเทศตลาดเกิดใหม่ และกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย จะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้ การเพิ่มผลิตภาพยังช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นจะมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันระหว่างประเทศในฐานะผู้ส่งออก
อีกทั้งบริษัทต่างชาติอาจจะย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศเหล่านี้ ดังนั้นจึงผลักดันให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ของประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างเล็กน้อยในช่วงปีแรกและปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาต่อมา โดยในระยะยาว การเพิ่มผลิตภาพจะส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้นอย่างเล็กน้อย ทางด้านตลาดเงินตราต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่าการเพิ่มผลิตภาพไม่มีผล กระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง
อิทธิพลของการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภูมิภาคเอเชียยังได้ส่งผ่านไปสู่ประเทศอื่นๆ ในตลาดโลก โดยส่งผลดีต่อ GDP ของหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ อเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ในระยะสั้น ผลจากแบบจำลองทางเศรษฐมิติยังชี้ว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้าในประเทศอื่นๆ มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศน้อยลง บริษัทเหล่านี้อาจจะย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศจีน เวียดนาม หรือ ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ซึ่งแรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ปัจจัยการผลิตภายในประเทศเหล่านี้อาจจะถูกโยกย้ายออกจากภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ ไปสู่ภาคสินค้าที่ไม่มีการค้าระหว่างประเทศ (non-tradable sector) อันนำมาสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานของภาคสินค้าที่ไม่มีการค้าระหว่างประเทศในระยะสั้น
นอกจากนี้ การเพิ่มผลิตภาพในเอเชียยังกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างประเทศที่มากขึ้นในตลาดโลกในระยะยาว ส่วนอัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการส่งผ่านของอัตราเงินเฟ้อภายในภูมิภาคเอเชียไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ
ข้อค้นพบเหล่านี้จึงเป็นหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การใช้นโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน อาทิเช่น การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ การโยกย้ายทรัพยากรและแรงงานจากภาคที่มีผลิตภาพการผลิตตํ่าไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น การเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านทางการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาทักษะด้านแรงงาน และการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนา เป็นต้น สามารถนำมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นโยบายเหล่านี้ยังส่งผลทางอ้อมและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของประเทศอื่นๆ หลายประเทศในตลาดโลกอีกด้วย
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
โดย ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3486 ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562