คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล (10)
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มซีพีแต่อย่างใด
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาที่ ติดขัดตรงไหน มาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 10 ว่าด้วยเรื่องการได้รับสิทธิให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ คู่สัญญาตกลงให้ รฟท. มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนติดตามมากครับ
ตอนที่แล้วผมนำเสนอไว้เพียงแค่ (1) มาดู (2) กันนะครับ
ในสัญญาระบุว่า ในระหว่างระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) หากมีการขยายระยะเวลาตามข้อ 15.1(1)(ฉ) 1) หรือมีการเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)(ช) หรือ รฟท. ได้ออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย รฟท. มีสิทธิได้รับรายได้บางส่วน (Revenue Sharing) ของค่าโดยสารและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เฉพาะในส่วนของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ (สำหรับช่วงที่มีการขยายระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)
(ฉ) และในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ที่มีการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)(ช) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะตกลงกันโดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำส่งรายได้ที่ รฟท. มีสิทธิได้รับดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในระยะเวลาที่ รฟท. กำหนด
(3) ค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญา ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับหนึ่งหมื่นหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านเก้าหมื่น (10,671,090,000) บาท โดยเอกชนคู่สัญญา จะต้องชำระค่าให้สิทธิดังกล่าวภายในวันที่ครบระยะเวลาสอง (2) ปี นับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุน มีผลใช้บังคับและ
(4) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้แก่ รฟท. ซึ่งมีรายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่าเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของรถไฟของโครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า)
8.2 การตรวจสอบความถูกต้องของการชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ รฟท.
(1) ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ คู่สัญญาตกลงว่าเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่จัดทำข้อมูลรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับโครงการฯของเอกชนคู่สัญญา ให้แก่ รฟท. โดยจะต้องนำส่งงบการเงินรายไตรมาสภายในสี่สิบห้า (45) วัน นับจากวันสุดท้ายของแต่ละไตรมาสนั้น และต้องนำส่งงบการเงินประจำปีที่มีการตรวจสอบและรับรองโดยบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงและ รฟท.อนุมัติ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบ (150) วัน นับจากวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของแต่ละปีนั้น
(2) ในช่วงระหว่างปีของแต่ละปีของระยะเวลาของโครงการฯ หาก รฟท. เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละไตรมาสของปีใดไม่ถูกต้อง ให้เอกชนคู่สัญญาและ รฟท. ร่วมกันตกลงและปรับข้อมูลข้างต้นให้ถูกต้องภายในสามสิบ (30) วัน นับจากวันที่ รฟท. มีหนังสือแจ้งไปยังเอกชนคู่สัญญาถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลนั้น หรือระยะเวลาอื่นใดตามที่คู่สัญญาตกลงกัน โดยหากไม่สามารถตกลงกันได้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้หาข้อยุติโดยใช้วิธีการระงับ ข้อพิพาทตามที่กำหนดไว้ในข้อ 39.12
(3) ในกรณีที่ รฟท. เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของปีใดไม่ถูกต้องและ รฟท. มีสิทธิได้รับชำระผลประโยชน์ตอบแทนของปีนั้นจากเอกชนคู่สัญญาเพิ่มขึ้น ให้เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่นำส่งเงินผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมในจำนวนที่ รฟท. กำหนดให้แก่ รฟท. ภายในสิบห้า (15) วัน นับจากวันที่เอกชนคู่สัญญาได้รับหนังสือจาก รฟท. โดย รฟท. จะไม่ใช้เงินดังกล่าวจนกว่าคู่สัญญาจะสามารถตกลงหรือหาข้อยุติเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้ ทั้งนี้เอกชนคู่สัญญาตกลงว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนต่อไปในระหว่างที่คู่สัญญายังไม่สามารถตกลงหรือหาข้อยุติเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับรายได้
(4) หากเอกชนคู่สัญญาจงใจปกปิดหรือแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนหรือกระทำใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการปกปิดข้อมูลรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากการให้เช่าช่วงและ/หรือการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาและ รฟท. ได้มีการดำเนินคดีแล้ว ให้ถือว่าเกิดเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 27 (1)
8.3 ผลประโยชน์ตอบแทนของเอกชนคู่สัญญา คู่สัญญาตกลงให้ เอกชนคู่สัญญามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดเก็บและได้รับรายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าโดยสาร ภายใต้เงื่อนไขการแบ่งรายได้ให้แก่ รฟท. ตามข้อ 8.1 เอกชนคู่สัญญามีสิทธิจัดเก็บและได้รับค่าโดยสารจากโครงการเกี่ยวกับรถไฟ
(2) มาตรการสนับสนุนโครงการฯ ทางการเงิน รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเป็นจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะตํ่ากว่า
(ก)หนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท หรือ
(ข)ในกรณีที่มูลค่าปัจจุบันรวม ณ วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปีของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ที่มีมูลค่ารวมของเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่เริ่มงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง จนถึงวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ตํ่ากว่า มูลค่าปัจจุบันรวมของจำนวนหนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท ที่แบ่งเป็น 10 ปี ปีละเท่าๆ กันนับจากวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง
ซึ่งมูลค่าปัจจุบันดังกล่าวคิดอยู่บนสมมติฐาน ณ วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ และใช้อัตราคิดลดร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปี ให้นำจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟนับตั้งแต่วันที่เริ่มงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงจนถึงวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง มาคำนวณเป็นมูลค่าอนาคตโดยใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปี เพื่อถือเป็นเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ที่จะเริ่มชำระให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18 ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ในข้อ(ก)หรือข้อ (ข) แล้วแต่จำนวนใดจะตํ่ากว่า เป็นระยะเวลา 10 ปี ปีละเท่า ๆ กันนับจากวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง
แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ จะไม่เกินกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท และ เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามมติรัฐมนตรี
เพื่อความชัดเจนของสัญญาข้อนี้ ให้ “มูลค่าปัจจุบัน” (Present Value) หมายถึง จำนวนมูลค่าหารด้วย 1.02375 ยกกำลัง ระยะเวลา(ปี) และ “มูลค่าอนาคต” (Future Value) หมายถึง จำนวนมูลค่า คูณด้วย 1.02375 ยกกำลัง ระยะเวลา(ปี)
เห็นผลประโยชน์ตอบแทนแล้วเป็นอย่างไรครับ ตอนหน้ามาดูเรื่องมาตรการสนับสนุนโครงการฯ ไม่ใช่ทางการเงินกันนะครับ อย่าเลิกติดตามกันเสียก่อนละครับ!
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (9)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (8)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (7)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (6)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (5)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (4)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (3)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (2)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (1)