*** อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้รู้กันว่าระหว่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" และ "กมลา แฮร์ริส" ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี แต่สำหรับเจ๊เมาธ์แล้ว เจ๊มองว่า ในภาพรวมแล้ว เพราะอะไรที่รู้ หรือคาดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ส่วนใหญ่มักจะวิ่งนำหน้าไปแล้ว (Front Run) ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงเชื่อว่า...ไม่ว่าหุ้นกลุ่มใดก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่แล้วแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอย่างแน่นอน
อย่างแรก... เจ๊เมาธ์เชื่อว่านโยบายของสหรัฐในเรื่องของการกีดกันและสงครามการค้าระหว่าจีนและสหรัฐ ก็ยังคงจะเดินหน้า แม้ว่าอาจจะรุนแรงขึ้นบ้าง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการย้ายฐานการผลิตอย่างกลุ่มนิคมฯ อย่าง AMATA ROJNA และ WHA และ หุ้นที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของดอกเบี้ยอย่างหุ้นธนาคารเช่น KBANK SCB BBL KTB อย่างมากก็อาจมีการขยับตัวไปมาอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวเจ๊เมาธ์มองว่าก็น่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ
อย่างที่สอง...นโยบายในเรื่องของสงคราม ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งของอิสราเอลกับอิหร่าน และพันธมิตร แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เจ๊เมาธ์ยังมองว่าตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกได้ตอบรับล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งนั่นก็จะทำให้หุ้นที่ได้อานิสงส์จากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นน้ำมันและโรงกลั่นอย่าง PTTEP TOP BCP IRPC SPRC หรือ แม้แต่ PTT และ PTTGC ก็น่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็น GULF GPSC BGRIM EA BCPG BPP ก็คงจะยังเป็นเหมือนเดิม
อย่างที่สาม...เจ๊เมาธ์เชื่อเช่นเดียวกับที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่างกัน ดังนั้น การที่กลุ่มเทคโนโลยี เช่น INSET AIT ICN รวมไปถึงหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น DELTA KCE HANA และ CCET เริ่มขยับตัวจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ใครจะมาหรือไป แต่กลับมองได้ว่านี่คือ เทรนด์ของโลก ที่กำลังจะก้าวไปในทิศทางเช่นนี้ก็เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ...แม้เจ๊เมาธ์จะมองว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่การที่อเมริกาจะได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจาก นายโจ ไบเดน ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของพัฒนาการที่สำคัญของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกอยู่แล้ว ดังนั้น การไม่ประมาทด้วยการวางเฉย หรือ มองข้าม จึงยังคงสำคัญ อย่างน้อยถ้าจับทิศทางได้ ...ก็น่าจะมีอะไรมีไม่ติดมือมาบ้างแน่นอนเจ้าค่ะ อิอิอิ
*** ยังคงมึนๆ งงๆ ในเรื่องของสิทธิ์แฟรนไชส์ “SUBWAY” ที่ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG จะประกาศความเป็นเจ้าของ Master Franchise Subway ผ่านทาง บริษัท โกลัค จำกัด โดยมี บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PTG เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
พร้อมกันนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทาง PTG ได้จัดแถลงข่าวความเป็นเจ้าของ Master Franchise Subway แต่เพียงผู้เดียวด้วยการทุ่มเงินลงทุนกว่า 35 ล้านบาท พร้อมเตรียมขยาย Subway จำนวน 500 สาขา เพื่อเสริมธุรกิจ non-oil หวังก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดฟาสต์ฟู๊ดไทยปี 69
ว่าแต่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับ SUBWAY…
ปัญหานี้เริ่มต้นจากการที่ก่อนหน้านี้ Master Franchise ของ “SUBWAY” เคยผูกอยู่กับบริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ของนาย ธนากร ธนวริทธิ์ เจ้าของ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ หรือ ALL บริษัทที่เพิ่งถูกตัดสินล้มละลายไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2024 ในขณะที่ก่อนหน้านี้เค้าลางของปัญหาก็เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ลามมาจนถึงตอนต้นปี ซึ่งนั่นก็ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจ “SUBWAY” ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทาง Subway Global กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้ร้าน Franchise ของ “SUBWAY” ที่ผูกอยู่กับ “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” ถูกยกเลิกตามไปด้วย
แต่ปัญหากลับยังไม่จบ เมื่อร้าน Franchise ของ “SUBWAY” ที่ผูกอยู่กับ “อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป” ยังคงเดินหน้าในการขายสินค้าและใช้โลโก้ของ “SUBWAY” แม้จะถูกตัดสิทธิ์และโดนตัดซัพพลายวัตถุดิบจนทำให้มาตรฐานไม่เหมือนเดิม
ล่าสุดการที่บริษัท โกลัค จำกัด ได้ประกาศตัวเข้ามาดูแล Master Franchise ของ “SUBWAY” ก่อนที่ต่อมาทางด้านของ CEO Subway Global ก็ได้แสดงตัวในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเดินทางมาเยี่ยมชมบริษัท พร้อมกันนี้ในฝั่งของ “โกลัค” ก็ได้เดินหน้าดูแลร้านค้าที่ผูก Franchise ของ “SUBWAY” อยู่กับ “โกลัค” จนกลายเป็นชื่อเดียวแต่ 2 มาตรฐานจนเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา
ว่ากันตามตรง...เจ๊เมาธ์เชื่อว่าในที่สุดเรื่องแบบนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ก็ในเมื่อมีใครสักคนไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่นการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แล้วยังคงกล้าที่จะเดินหน้าใช้โลโก้ รวมไปถึงการปล่อยให้ร้านที่ซื้อ Franchise จากตัวเองไปต้องถูก “ลอยแพ” จนท้ายที่สุดปัญหาลุกลามไปจนกระทบถึงผู้บริโภค....เรื่องนี้ปล่อยไว้ไม่ได้แน่นอนค่ะ