การประท้วงฮ่องกงเข้าสู่เดือนที่ 4 และทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นของฮ่องกงย่อยยับ ยอดขายปลีกเดือนสิงหาคมตกลง 23% ต่อปี ตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ว่าค่าเงินและตลาดหุ้นฮ่องกงถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก แสดงถึงนักลงทุนยังค่อนข้างให้ความเชื่อมั่นต่อความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงซึ่งในความเป็นจริงมีระบบเศรษฐกิจจีนทั้งหมดหนุนอยู่ และตราบเท่าที่กองทัพจีนไม่ยกรถถังเข้ามา ฮ่องกงยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้
• ค่าเงินฮ่องกงคงเสถียรภาพได้ หลังจากเหตุการณ์ประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้น นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มคาดว่าค่าเงินฮ่องกงจะได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่า จนรัฐบาลอาจเปลี่ยนหรือยกเลิกระบบผูกค่าเงินกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (currency peg) ซึ่งกำหนดให้ค่าเงินฮ่องกงอยู่ในช่วงระหว่าง 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นระบบที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983
เหตุผลที่มีการคาดว่าค่าเงินฮ่องกงจะถูกกดดันคือข่าวที่ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งเริ่มหาทางย้ายถิ่นฐาน โดยซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ กอปรกับรายได้ท่องเที่ยวหดหายอย่างรุนแรง รวมไปถึงความกังวลการ
ถอนทุนของกองทุนต่างชาติ เราจึงเห็นตลาดเงินล่วงหน้าซื้อขายเงินดอลลาร์ฮ่องกงอยู่ที่อัตราอ่อนกว่า 7.85 อยู่หลายวันทีเดียวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ระบบผูกค่าเงินฮ่องกงมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวน 433 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนอยู่ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งลดลงจากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคมปีนี้เพียง 1.2% และเงินทุนสำรองนี้มีจำนวนสูงกว่าเงินที่หมุนเวียนทั้งหมดในเศรษฐกิจฮ่องกง หรือฐานเงิน (monetary base) ถึงกว่า 2 เท่า ซึ่งเพียงพอที่จะปกป้องเสถียรภาพค่าเงินฮ่องกงได้แบบไม่ลำบาก และที่สำคัญที่สุด ต้องถือว่าเงินทุนสำรองของฮ่องกงยังได้รับการหนุนหลังจากเงินทุนสำรองของจีนทั้งหมดด้วยในกรณีเหตุสุดวิสัย ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกองทุนใดมาเก็งกำไรค่าเงินฮ่องกงให้ออกไปนอกกรอบที่ตั้งไว้
การจะปรับเปลี่ยนระบบค่าเงินฮ่องกงในอนาคตจะเป็นการตัดสินใจในเชิงการเมืองมากกว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แนวคิดหนึ่งคือการให้ค่าเงินฮ่องกงมาผูกกับเงินหยวนแทน แต่จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลทั้งทางการเมืองและในทางปฏิบัติ
• ตลาดหุ้นถูกกระทบไม่มากนัก - ดัชนีหุ้นฮั่งเส็งตกลง 11% ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในวันที่ 2 กรกฎาคม - 4 ตุลาคม ปีนี้ และดัชนีหุ้นจีนในฮ่องกงหรือดัชนี HSCEI ตกลง 8% แต่เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้น MSCI Asia ex Japan ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นในเอเชียที่ตกลง 7% ในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ถือว่าตลาดหุ้นฮ่องกงไม่ได้ถูกกระทบไปกว่าปกติมากนัก และผลกระทบต่อตลาดหุ้นในด้านอื่นๆ ก็ถือว่ามีน้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปริมาณการซื้อขาย หรือปริมาณหุ้น IPO
ฟังดูขัดกับภาพความรุนแรงที่เราเห็นในข่าวอย่างมาก ความแตกต่างนี้อธิบายได้จากความที่ตลาดหุ้นฮ่องกงมีองค์ประกอบที่เป็นจีนเกือบทั้งหมด กล่าวคือหุ้นของบริษัทจีน (ที่ไม่ใช่บริษัทฮ่องกง) มีจำนวนกว่า 1,100 บริษัท รวมกันแล้วคิดเป็น 68% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด เมื่อปลายปี ค.ศ. 2018 และถ้าพิจารณาถึงปริมาณการซื้อขายแล้ว สัดส่วนหุ้นจีนกระโดดขึ้นไปถึง 80% อีกทั้งนักลงทุนในตลาดฮ่องกงประมาณ 2 ใน 3 ป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ
ดังนั้น ความมั่นใจที่นักลงทุนยังพอมีต่อตลาดหุ้นฮ่องกง แท้จริงคือความมั่นใจต่อบริษัทจีนและระบบเศรษฐกิจจีนที่รองรับ นอกจากนี้ยังพบว่าเม็ดเงินจากนักลงทุนจีนเข้ามาซื้อหุ้นที่ฮ่องกงภายใต้โครงการ stock connect มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ปีต่อปี ในไตรมาส 3 นี้ ส่วนปริมาณการขายหุ้นภายใต้โครงการเดียวกันกลับอยู่ในอัตราลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายภายใต้โครงการ stock connect คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของตลาดทั้งหมด
จึงสรุปได้ว่าเหตุการณ์ประท้วงเผาบ้านเผาเมือง ยังไม่ได้ทำความเสียหายต่อความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงมากนัก ถึงแม้เหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายจากนี้ไปอีกมาก แต่ตราบเท่าที่ความเป็นศูนย์กลางของฮ่องกงไม่ถูกทำลาย ฮ่องกงยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไม่มีข้อสงสัย
คอลัมน์ลวดลายมังกร หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562 โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์
เกี่ยวกับผู้เขียน : มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา
หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด