น่าเสียดายอุตสาหกรรมเซรามิกไทย 30- 40 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถยกระดับพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยอุปสรรคหลายทางโดยเฉพาะโอกาสที่ได้รับจากภาครัฐที่ดูเหมือนจะริบหรี่ไปทุกที!!!
ปัจจุบันในประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเซรามิกหลักอยู่ 5 ประเภท ไล่ตั้งแต่กระเบื้องเซรามิก เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร กลุ่มของที่ระลึกและลูกถ้วยไฟฟ้า อุตสาหกรรมเซรามิกถือเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญปัญหาหลากหลายรูปแบบ เป็นอุปสรรคสกัดการเติบโตมาเป็นระยะ
ไล่กันตั้งแต่ กลุ่มเซรามิกต้องต่อสู้กับเซรามิกนำเข้าราคาถูก(มาก)จากจีน มีเซรามิกเกือบทุกประเภทเฮโลเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยในราคาถูกกว่าตั้งแต่ 30-50% โดยเฉพาะเซรามิกราคาถูกที่นำเข้าตามแนวตะเข็บชายแดน จนผู้ประกอบการที่มีสายป่านสั้นในพื้นที่โซนภาคเหนือหลายรายเจ็บตัวเรียงแถว และออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดช่องดูแลสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการใช้เชื้อเพลิง และส่งเสริมการใช้เซรามิกในประเทศ แต่ยังไม่รับการดูแลอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผู้ประกอบการเรียกร้องรัฐบาลสนับสนุนใช้เชื้อเพลิงราคาถูก เพราะเป็นต้นทุนหลัก ทั้งก๊าซ LPG และ NG(ก๊าซธรรมชาติ) แต่ดูเหมือนข้อเรียกร้องเก่าๆนี้จะผ่านไปกับสายลม..... ในขณะที่สถาบันการเงินก็เลือกที่จะปล่อยกู้เฉพาะราย ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องจริงๆกลับไม่ได้รับการดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเซรามิกที่เป็นเอสเอ็มอี ที่สถาบันการเงินต้องระวังในการปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ
ปัญหาเดิมๆยังย้ำอยู่กับที่ แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปคือวันนี้ต้องมารับศึกหนักอีกหลายเด้ง!!! เมื่อไทยเผชิญกับเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคทำให้กระทบต่อเซรามิกชนิดต่างๆ เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก อีกทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และล่าสุดการที่สหรัฐลงนามประกาศระงับโดยตัดสิทธิ์พิเศษภาษีศุลกากรหรือจีเอสพี เป็นการทั่วไปกับสินค้าไทยเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทนั้น มีกลุ่มเซรามิก ติดร่างแห่อยู่ด้วย หากเป็นไปตามนั้นเชื่อว่าอุตสาหกรรมเซรามิกจะได้รับผลกระทบเป็นเงินมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ยังต้องจับตาดูผลสะท้อนจากผู้ประกอบการต่อไป
“ผมอยู่ในวงการเซรามิกมาตลอด 40 ปี มองเห็นผู้ประกอบการหลายกลุ่มต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ที่ผ่านมารัฐบาลรับเรื่องไป มีการตั้งคณะกรรมการหารือ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ พอเข้าสู่วาระใหม่ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีก เหมือนลูบหน้าปะจมูก อยากจะบอกว่ากัปตันเรือต้องให้ความสำคัญต่อภาคการผลิตในประเทศ ยอมรับว่าทุกวันนี้กลุ่มเซรามิกหลายรายถอดใจเลิกกิจการไป บางรายส่งต่อถึงคนรุ่นหลังก็ไม่อยากทำกันแล้ว” นายสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวและว่า
ปัจจุบันคนที่ผลิตโอ่งมังกร จากที่เคยมีโรงงานเป็นร้อยๆแห่ง ปัจจุบันเหลือ 30-40 แห่ง ใครสายป่านยาวก็ลดจำนวนคนงานลงและหันไปปรับตัวพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับแต่งบ้าน อย่างกระถางต้นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม เป็นต้น
“มีสัญญาณหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเซรามิก ที่บ่งบอกว่าแย่ลงจริงๆ สมัยก่อนจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเซรามิกในพื้นที่ภาคเหนือ คนจะมาฟังจำนวนมาก ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือคนมาฟัง หรือบางพื้นที่มีหนังสือวารสารเกี่ยวกับเซรามิกแจกเพื่อบอกถึงความเคลื่อนไหวตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว”
จากข้อมูลตัวเลขส่งออกนำเข้าสินค้าเซรามิกจากกลุ่มเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2560 มีมูลค่าส่งออกรวม 26,720 ล้านบาท ปี2561 มีมูลค่าส่งออก 27,234 ล้านบาท และถ้าดูเปรียบเทียบมูลค่าส่งออกรวมช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.61 มีมูลค่ารวม 18,341.91 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 มูลค่ารวมอยู่ที่ 18,746.84 ล้านบาท ส่วนสถิติการนำเข้าปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าที่ 24,824 ล้านบาท ปี2561 มีมูลค่า 23,938 ล้านบาท และในช่วง เดือนม.ค.-ส.ค.61 มีมูลค่ารวม 15,538.93 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 มูลค่ารวมอยู่ที่ 14,329.75 ล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบกับการส่งออกรวมอุตสาหกรรมเซรามิกในอดีตที่มีมูลค่าสูงกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
ด้วยปัญหาที่บีบรัดมาเป็นระลอกนั้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ยังเดินหน้าต่อสู้ต่อไปต้องหันมาปรับตัวปรับกลยุทธ์ ดิ้นร้นเอาตัวรอด บางรายต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองโดยโฟกัสตลาดภายในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็รอรับโอกาสร่วมทุนกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะจีน ที่ปรับกลยุทธ์ออกมาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อรับโควตาที่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้ เป็นต้น
ยากลำบากไปทุกทีสำหรับอุตสาหกรรมใดก็ตามที่สปีดไม่ทัน หรือไม่ได้รับโอกาสจากภาครัฐ อีกทั้งเจอขวากหนามรอบตัวแบบนี้ จับชีพจรอุตสาหกรรมเซรามิกไทยเข้าสู่อาการลมหายใจรวยริน!!! รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นหรือ?
คอลัมน์ : Let Me Think
โดย : TATA007