คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563
ช่วงนี้มีแต่ข่าวน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับเชื้อโรค Covid-19 ที่แพร่ไปอย่างรวดเร็วทั่วทุกภูมิภาคอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลกระทบอันใหญ่ หลวงทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์ในการกักกันผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่
วันนี้ผู้เขียนอยากจะมาชวนคุยอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยว ข้องกับ Covid-19 ที่น่าสนใจ คือเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่างในวิกฤติครั้งนี้กันค่ะ
1. Real Time Interactive Map
Map ข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ การสร้าง Map ประเภทนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่มาก แต่เป็นเครื่องมือมีประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไปที่จะติดตามสถาน การณ์ได้อย่างทันท่วงที ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อกี่คนแล้วและอยู่ที่ไหนบ้าง มีหลายทีมที่พยายามพัฒนา Map ประเภทนี้ขึ้นมา หนึ่งใน Map ประเภทนี้ที่เป็นที่นิยมค่อนข้างมากคือ Coronavirus Covid-19 Global Cases สร้างโดย John Hopkins CSSE
Map แสดงสถานที่ซื้อสินค้าจำเป็น ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ สินค้าพวกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ เป็นของหายากเพราะขาดตลาด รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันจึงปิ๊งไอเดีย ทำ Interactive Map ที่แสดง ผลแบบ Real time ว่าร้านไหนมีหน้ากากอนามัยขาย มี Stock เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังทำระบบให้ข้อมูลนี้ผ่านทาง Chatbot บน LINE อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยคณะอนาคตใหม่ก็ได้สร้าง Map ที่ Crowdsource (รับแจ้งข้อมูล จากประชาชน) เพื่อแสดงผลให้เห็นว่าที่ใดมีหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ขายอยู่บ้าง
2. QR และ Big Data Analytic
เทคโนโลยี QR ที่ปกติชาวจีนมีไว้ใช้จ่ายในสังคมไร้เงินสด โดยผ่าน App Alipay กับ WeChat Pay กันอยู่แล้ว คราวนี้ได้แจ้งเกิดในฐานะ App ที่มีส่วนช่วยในการลดการแพร่กระจายของไวรัส โดยผู้ใช้ Alipay และ WeChat สามารถ Register ข้อมูลส่วนตัว และ Check ได้ว่าที่ผ่านมาได้อยู่ในรัศมีที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อหรือถูกสงสัยว่าติดเชื้อไหม (เช่น ได้นั่งรถไฟหรือขึ้นเครื่องบินเที่ยวเดียวกันไหม) หากไม่เกี่ยวข้องระบบจะสร้าง QR Code สีเขียวให้ว่าเราปลอดภัย (ถ้าเป็นสีแดงหรือสีเหลือง จะห้ามไปไหนต้องกักตัวตามระยะเวลาที่ถูกกำหนด) ในบางสถานที่จะมีที่ให้เรา Scan QR ว่าเราได้เดินทางมาถึง และเจ้าหน้าที่จะให้เข้าไปในสถานที่นั้นได้ถ้าเรามี QR Code เป็นสีเขียวเท่านั้น
3. AI เพื่อการวินิจฉัยโรค
ในระยะหลังๆ นี้ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค ซึ่งหลักการคือการสอน AI โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยที่มีอยู่ เพื่อให้ AI สามารถเรียนรู้และนำข้อมูลที่มีมาวินิจฉัยคนไข้รายใหม่ ล่าสุดมีข่าวจากทางประเทศจีนว่า ทีมงาน Alibaba ได้ใช้วิธีนี้มาพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้อ่านภาพ CT Scan ของปอดผู้ป่วย และช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคจากเชื้อไวรัส Covid-19 หรือไม่ โดย AI ที่ถูกสร้างขึ้นนี้สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำถึง 96% เลยทีเดียว
4. เทคโนโลยีจิปาถะอื่นๆ ใน การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย
ที่ไต้หวัน มีบริษัท Startup ได้สร้าง Smart Vending Machine เพื่อแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้คนในพื้นที่ โดยสามารถนำบัตรประชาชนมาสแกนเพื่อรับสินค้าตามที่แต่ละคนได้รับการจัดสรร
สำหรับประเทศญี่ปุ่นได้มีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางไปรษณีย์ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค โดยประชาชนในพื้นที่จะได้รับหน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึงและไม่ต้องออกมา นอกบ้านเพื่อเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อ
เทคโนโลยีที่กล่าวมานี้หลายประเภทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก และบางเรื่องเป็นสิ่งที่บางหน่วยงานอาจมีศักยภาพอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในประเทศ ไทยก็คงจะเป็นเรื่องดีค่ะ