คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3568 หน้า 7 วันที่ 23 -25 เมษายน 2562
โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรค COVID-19 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการเศรษฐศาสตร์ จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 3% ในปี 2563 มากกว่าการหดตัว 0.1% ในสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หลายเท่าตัว
และเพื่อบรรเทาผลกระทบ ของวิกฤติที่ IMF เรียกว่า The Great Lockdown นี้ รัฐบาลทั่วโลกได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วเป็นเงินไม่ตํ่ากว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือนนับจากวันที่รัฐบาลจีนประกาศการค้นพบโรคปอดบวมที่ไม่ทราบสาเหตุ (31 ธันวาคม 2562)
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทั่วไป การสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ท่ามกลางข่าวร้ายจากยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันและภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ข่าวดีที่ยังพอมีอยู่บ้าง คือ การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางลด ลง จากภาพถ่ายดาวเทียมของ NASA และองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) แสดงให้เห็นว่าการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลดลงของการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศในช่วง lockdown ส่งผลให้มลพิษทางอากาศเหนือน่านฟ้าเมืองใหญ่ทั่วโลกดีขึ้น
อาทิเช่น การลดลงของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศจีน การลดลงของฝุ่นละเอียด PM 2.5 ในมณฑลหูเป่ย การลดลงของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรป และการฟื้นตัวของแหล่งธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความจำเป็นในการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในตอนนี้ อาจทำให้การทำงานจากบ้านแพร่หลายมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางอีกด้วย จึงดูเหมือนว่า The Great Lockdown นี้ ถึงจะไม่ดีต่อเศรษฐกิจแต่อย่างน้อยก็ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี เรายังไม่ควรด่วนดีใจว่า การหยุดพักของเศรษฐกิจโลกจะส่งแต่ผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะการที่คนทั่วโลกทุ่มเทความสนใจไปยังโรค COVID-19 กันแทบจะตลอดเวลาส่งผลให้ประเด็นสำคัญๆ ด้านสิ่งแวดล้อมถูกละเลย และทรัพยากรทางการเงินถูกหันเหไปเพื่อการรับมือกับ COVID-19 แทบทั้งสิ้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เคยได้รับความสนใจและเป็นปัญหามาก เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และปัญหาไฟป่าได้รับพื้นที่ข่าวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อันเนื่องมาจากการ lockdown ยังอาจส่งผลให้ประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยลง ประกอบกับสภาวะราคานํ้ามันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้การลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนนํ้ามันน่าสนใจน้อยลงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงเราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าโรค COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนัก คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิปักษ์กัน การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถลงไปในภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือภาคส่วนที่จะมีส่วนบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้
อาทิเช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบจัดการของเสีย การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ นํ้า และการส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น
ถึงแม้ว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจเป็นพิษ แต่เราไม่อาจละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในวงกว้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้ตลอดไป เพราะหากเพิกเฉย ไม่สนใจจะทำอะไรเพื่อบรรเทาปัญหาแล้ว ผลกระทบที่ตามมาอาจกระจายเป็นวงกว้างแบบไม่คาดคิด อย่างเช่น การระบาดของโรค COVID-19 ครั้งนี้ก็เป็นได้
ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะใช้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกกำลังปรับตัวขนานใหญ่ ในการสนับสนุนภาคส่วนที่จะช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่เราจะได้ก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางสุขภาพและเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจของเรา