ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามหัตภัยร้ายอย่างพิษไวรัสโควิดที่ระบาดไปทั่วโลกครั้งนี้ช่างร้ายแรงนัก ตัดวงจรเศรษฐกิจหยุดชะงัก โรงงานผลิตจำนวนมากมายต้องหยุดผลิตชั่วคราว แรงงานทั่วโลกต่างพากันตกงานพร้อมกัน เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนว่ากำลังจะไปด้วยดี เพราะมีดีกรีเป็นถึงผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลกติดต่อกันมานานหลายปี กำลังตกที่นั่งลำบากไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น และพากระทบลามถึงวัตถุดิบอย่าง “อ้อย”เต็มๆ
“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ถึงมุมมองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะหายไปจากโลกนี้เมื่อไหร่ ถ้ายืดเยื้อจะเกิดอะไรต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย
-ปริมาณน้ำตาลโลกจะลดลง2ล้านตัน
ขณะนี้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกลดลง ทำให้บราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกหันมาผลิตน้ำตาลมากขึ้นเพราะขายได้ราคาดีกว่านำอ้อยไปผลิตเอทานอล ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกร่วงจาก 14-15 เซ็นต่อปอนด์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดลงมาอยู่ที่เลขหลักเดียวหรือราค า 9-9.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ เช่นเดียวกันราคาวัตถุดิบอย่างอ้อย ในช่วง 2 ปีมานี้ไม่มีแรงจูงใจที่ทำให้ชาวไร่อ้อยอยากหันมาปลูกอ้อย
วีระศักดิ์ ขวัญเมือง
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเริ่มจับตาจากนี้ไปสัญญาณเตือนเริ่มมาแล้วเมื่อมีการออกมาคาดการณ์ของคนในวงการอ้อยและน้ำตาลว่า น่าห่วงหากสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลงถึง 2 ล้านตัน จากที่ภาวะปกติมีการผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกราว 168 ล้านตันต่อปีและมีการบริโภคน้ำตาลมากกว่า 170 ล้านตันต่อปี
-ห่วงราคาอ้อยร่วงแบกภาระขาดทุน
โดยมองว่าถ้าโควิดยืดเยื้อถึงปลายปี2563 น่าเป็นห่วงว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2563/2564 ที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่จะลดลงมากกว่า 2 ล้านตัน เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย กำลังซื้อหาย คนไม่ออกมาใช้จ่ายตามร้านอาหาร จะยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยค่อนข้างสูง และยิ่งราคาน้ำตาลทรายดิบยืนที่เลขหลักเดียว(9.5เซ็นต์ต่อปอนด์) ก็จะยิ่งทำให้ราคาอ้อยปี2563/2564ต่ำกว่า 750 บาทต่อตันอ้อย ตกอยู่ในสภาพแบกภาระขาดทุน
นอกจากนี้ในแง่ปริมาณอ้อยก็จะตกต่ำลงไปด้วยเนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาอ้อยไม่เป็นที่จูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสนใจจะปลูกอ้อยมากขึ้น อีกทั้งเผชิญปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้ชาวไร่อ้อยต่างมีการประเมินเบื้องต้นว่าในฤดูการผลิตใหม่ปี2563/2564ที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยจะหายไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี2562/2563 ที่มีปริมาณอ้อย 75 ล้านตัน ปี2563/2564 ก็จะเหลือราว 60 ล้านตันหรือต่ำกว่านี้
อย่างไรก็ตามในแง่ความกังวลก็ยังมีทางออก ถ้ามีการบริหารระบบอ้อยและน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ โดยเฉพาะการวางแผนรับมือชั่วคราว เพราะเวลานี้ปัญหาผลกระทบจากโควิด อยู่เหนือกติกาWTO ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำได้คือ 1.กลับไปใช้ระบบโควตา แบบเดิมเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19จะคลี่คลายลง 2.มีการปรับราคาน้ำตาลภายในประเทศให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน
3.ภาครัฐต้องลงมาช่วยเหลือลดฝุ่นละอองPM 2.5โดยให้รางวัลกับชาวไร่อ้อยที่ไม่เผาอ้อย 4.ควรใช้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาพยุงฐานะอ้อยให้มีระดับราคาคุ้มต่อต้นทุน เช่น ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินเพื่อมารักษาระดับราคาอ้อย โดยหนี้ก้อนนี้จะเป็นเงินในอนาคต นำมาทำให้ราคาอ้อยคุ้มทุนให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชอื่นหมด
“อยากให้รัฐมองเห็นความสำคัญ เพราะน้ำตาลเป็นหมวดอาหาร มีความจำเป็นต่อการบริโภค ดังนั้นรัฐควรส่งเสริม”
-กระทบเกษตรกรกว่า 3 แสนครัวเรือนทั่วปท.
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่าตอนนี้อีกสิ่งที่น่าห่วงคือ ถ้าไทยมีผลผลิตอ้อยออกมาเพียง 60 ล้านตันอ้อย ก็จะผลิตน้ำตาลทรายดิบได้เพียง 6 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะใช้ในประเทศ 3ล้านตัน และเหลือส่งออกเพียง3ล้านตัน เทียบจากภาวะปกติไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 14 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้ส่งออก 11 ล้านตันน้ำตาล และบริโภคในประเทศ 3 ล้านตันน้ำตาล จะทำให้รัฐเสียรายได้จากการส่งออกน้ำตาลจำนวนมาก และไทยก็จะเสียสถานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นลำดับ 2 ของโลก และที่ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้นคือเมื่อรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยหายไปก็จะทำให้เกษตรการมากกว่า 3 แสนครัวเรือนทั่วประเทศได้รับผลกระทบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่กระจายรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ
การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าปริมาณอ้อยจะหายไปจากระบบมากถึง 20% ขณะที่การส่งออกน้ำตาลจะลดลงอย่างมาก หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดลากยาวไปถึงปลายปีนี้