คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,576 หน้า 5 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2563
เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีรายงานผลกระทบของสถานการณ์ COVID- 19 โดยธนาคารโลก และ เป็นประเด็นถูกจับตามอง เนื่องจากผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูงมาก ในฐานะนักวิจัยคนหนึ่งจึงได้หา รายงาน East Asian and Pacific in the Time of COVID19 ที่มีความหนากว่า 200 หน้า มาอ่านบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองและการประมวลผลกระทบ (Quantifying the Real Impact) และจะตีความให้ง่ายที่สุด ผู้อ่านจะได้เข้าใจถึงที่มา และผลของการวิเคราะห์
รายงานดังกล่าวได้ระบุว่าการวิเคราะห์นี้ อาศัยสถานการณ์จำลองต่างๆ (various scenarios) ในการวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่การพยากรณ์ล่วงหน้า (not as projections) อีกทั้งยังมีข้อสมมุติหลายด้าน กล่าวคือการวิเคราะห์ “ไม่ได้รวมถึง” เช่น
(1) คุณภาพของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศ และระบบการขนส่งระหว่างประเทศ (2) การใช้มาตรการทางสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ (3) การลดลงของอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
และ (4) ความมั่นใจของนักลงทุนที่ลดลงและกระทบของระบบการเงิน เป็นต้น แต่แบบจำลองดังกล่าวให้ความสำคัญต่ออุปสงค์ที่ลดลงจากรายได้และการผลิตที่ลดลง และการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) จะเห็นได้ว่ามีข้อสมมติหลายด้านจริงๆ
ในส่วนของแบบจำลองที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์นั้น ยังมีข้อสมมุติเพิ่มเติมว่า เช่น การทดแทนกันระหว่างปัจจัยการผลิต อาทิ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศจะทดแทนกันได้ยาก อีกทั้งจะนำสินค้าดังกล่าวจากอีกประเทศมาทดแทนกันก็ยากเช่นกัน ทำให้มีผลต่อความสัมพันธ์ผ่านห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก (Global Value Chain)
จากนั้นมี “สมมุติว่าให้โรค COVID-19 มีผลกระทบ” 4 ด้าน คือ
(1) ผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งมีการกำหนดว่าแรงงานทุกภาคการผลิตนั้นถูกใช้ตํ่ากว่าระดับที่ควรใช้ (underutilization) 3% ตลอดทั้งปี
(2) ต้นทุนในการทำการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 25% ในทุกรายการนำเข้าของสินค้าและบริการ
(3) การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยวลดลง 20-32% โดยเฉลี่ยในตลาดโลก
และ (4) ผลกระทบในระดับครัวเรือนหรือประชาชนจากการรักษาระยะห่างทางสังคม มีผลต่อการเดินทางการท่องเที่ยวในประเทศ ร้านอาหาร และสันทนาการ โดยคาดว่าอุปสงค์ต่อบริการเหล่านั้น ลดลง 15%
จากผลกระทบทั้ง 4 ด้านนำมารวมกัน และแยกวิเคราะห์มาเป็นสถานการณ์จำลอง 2 สถานการณ์คือ
(ก) กรณีที่มีการฟื้นตัวเร็วและมีผลกระทบวงแคบ โดยจีนจะได้รับผลกระทบ 4 ด้านดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในโลก ได้รับผลกระทบเพียงครึ่งเดียว (Global Pandemic) และ
(ข) ข้อสมมุติทั้ง 4 ด้าน มีผลกระทบกับจีนเป็นอย่างเต็มที่ และเกิดผลกระทบกับทุกประเทศในโลกเป็น 2 เท่า (Amplified Global Pandemic)
ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว รายงานของธนาคารโลกในส่วนนี้ ไม่ได้มุ่งถึงการพยากรณ์ผลกระทบของโรค COVID-19 แต่เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของโรค ตามข้อสมมุติที่นักวิจัยของธนาคารโลกกำหนด การตีความตัวเลขว่าประเทศใดจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยในด้านใด จึงต้องมีความระมัดระวังเพราะตัวเลขนั้นเกิดจากการกำหนดค่าเบื้องต้นของสถานการณ์ต่างๆ จากนักวิจัย
ผลของการศึกษาดังที่แสดงในตารางนั้นเป็นกรณี ผลกระทบอย่างรุนแรง (Amplified Global Pandemic) โดยแบ่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคอื่นๆ นอกจากนั้นยังแยกผลกระทบที่มีต่อการ บริการภายในประเทศ การให้บริการการท่องเที่ยว และการรวมผลกระทบ ทั้งหมด
สำหรับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบ ในภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุด (-4.43) น่าจะมาจากที่ไทยผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเป็นจำนวนหลากหลาย และที่มีผลกระทบสูงเพราะข้อสมมุติของการจำลองสถานการณ์นี้ เน้นในเรื่องของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นโซ่ข้อกลางให้กับอีกหลากหลายประเทศในเอเชียตะวันออก และภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบสูงเช่นกัน (-14.64) ใกล้เคียงกับ ฟิลิปปินส์ สปป. ลาว และกัมพูชา
ขณะที่พิจารณาผลกระทบโดยรวม ประเทศไทยได้รับผลกระทบสูงที่สุด (-5.29) เพราะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้รับผลกระทบสูง เพราะข้อสมมุติของสถานการณ์จำลองที่นักวิจัยของธนาคารโลกตั้งไว้
การตีความผลงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ข้อสมมุติและข้อจำกัด ในโลกแห่งความเป็นจริงสถานการณ์ประเทศไทยอาจจะดีกว่าที่คิดเพราะระบบสาธารณสุขของเรานั้นดีเยี่ยม
หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศไทยอาจจะฟื้นกลับมาเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชียก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามัคคีในพรรครัฐบาล ที่จะดำเนินนโยบายโปร่งใสและให้สอดคล้องกัน