หนี้การบินไทย 3.5 แสนล้าน “ท่านได้แต่ใดมา?”

29 พ.ค. 2563 | 12:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3579 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 3 มิ.ย.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

          วันที่ 27 พฤศภาคม 2563 อ้าปากค้างกันทั้งประเทศ เมื่อมีข้อมูลออกมาจากศาลล้มละลายกลางว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI ขณะนี้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท มีหนี้ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 รวม 10,200 ล้านบาท จึงอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

          ศาลจึงมีคำสั่ง รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย (THAI) และให้นัดไต่สวนคดีนัดแรกวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. ซึ่งส่งผลให้ “การบินไทย” เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทันทีกับเจ้าหนี้ทุกรายตามกฎหมาย(Automatic Standstill) เพราะหากไม่ได้รับการฟื้นฟูจะเสียหายต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ พนักงาน เเละเศรษฐกิจของประเทศชาติ

          การรับคำร้องของศาลมีผลในทางปฏิบัติทันทีนั่นคือ เจ้าหนี้ที่ทรงสิทธ์จำนวน 3.54 แสนล้านบาท จะถูกพักชำระหนี้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่เหลือรอการพิจารณาว่าจะโหวตคัดค้านแผน หรือ อนุมัติแผนฟื้นฟู

          สำหรับรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู มีการเสนอ บริษัท เอินส์ท แอนด์ ยัง จำกัด (EY) ซึ่งเป็นบริษัทสอบบัญชี บริการที่ปรึกษาบัญชี และบริการบริหารความเสี่ยงระดับโลก พร้อมทั้งกรรมการลูกหนี้ 6 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ การบินไทย, 2.จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทย, 3. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, 4.บุญทักษ์ หวังเจริญ, 5. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร และ 6. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563

          หลังจากนั้น ทริสเรทติ้ง ได้ปรับลดเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของบริษัท การบินไทย ลงสู่ระดับ D หรือ Default ซึ่งเป็นสภาวะผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนดทันที

          คำถามคือ หนี้ก้อนนี้เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อสิ้นปี 2562 บริษัทแจ้งงบการเงินว่ามีหนี้สินไม่มากขนาดนั้น

          ผมตามไปตรวจสอบหนี้การบินไทยและบริษัทย่อย ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน งวด 31 ธันวาคม 2562 พบว่า การบินไทยมีหนี้สิน 244,899 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 2.12 แสนล้านบาท เป็นหนี้ค่าเช่า-ซื้อเครื่องบิน หนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน หนี้เงินกู้ระยะสั้น หนี้เงินกู้ระยะยาว เจ้าหนี้การค้า และผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน จำแนกแจกแจงได้ดังนี้

          หนี้ก้อนแรก เป็นเงินกู้ระยะสั้นเพื่อบริหารสภาพคล่อง 2.19 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อระยะสั้น Credit Line 13,500 ล้านบาท เงินกู้วงเงิน Uncommitted Credit Line 8,400 ล้านบาท

          หนี้ก้อนที่สอง เป็นเงินกู้ระยะยาว 2.32 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ยืมจากต่างประเทศสกุลเงินยูโร ที่กระทรวงการคลังให้การบินไทยกู้ยืม 11,977ล้านบาท เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 437 ล้านบาท เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ 10,873 ล้านบาท เงินกู้ก้อนนี้ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 5,392  ล้านบาท ที่เหลือกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน 5,105 ล้านบาท กู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,790 ล้านบาท

          หนี้ก้อนที่สาม เป็นหุ้นกู้ 7.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 9,085 ล้านบาท หุ้นกู้ที่เหลือ 65,023 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ที่ถือโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ 73 แห่ง ราคาทุนรวม 36,181  ล้านบาท

          หนี้ก้อนที่สี่ เป็นหนี้สัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน 32 ลำ 5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินในและต่างประเทศรวม 21 ราย มีกำหนดจ่ายระหว่างปี 2563-2573 รวมทั้งสิ้น 50,110 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายตกประมาณ 3,654  ล้านบาท คงเหลือเป็นเงินต้นสัญญาเช่าเครื่องบิน 46,456 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่จะต้องจ่ายในปีนี้ 7,253  ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยจ่าย 39,203 ล้านบาท

          หนี้ก้อนที่ห้า เป็นหนี้สินค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน 1.4 หมื่นล้านบาท แยกออกได้เป็นค่าซ่อมใหญ่เครื่องบินและส่วนประกอบอื่นๆ 6,642 ล้านบาท ค่าซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานและเช่าการเงิน 7,206 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงเพื่อเตรียมสภาพเครื่องบินเมื่อส่งมอบคืนตามสัญญาเช่า 173 ล้านบาท

          หนี้ก้อนที่หก เป็นหนี้สินหมุนเวียน 8.53 พันล้านบาท ซึ่งมาจากหนี้ค่าธรรมเนียมสนามบิน 4,456 ล้านบาท ซึ่งว่ากันว่าตอนนี้ต้องเสียค่าจอดเดือนละ 20 ล้านบาท หนี้ค่าใช้จ่ายพนักงานท้องถิ่นในต่างประเทศ 531 ล้านบาท เจ้าหนี้อื่นๆ 2,245  ล้านบาท  

          หนี้ก้อนที่เจ็ด เป็นภาระผลประโยชน์พนักงานและกองทุนบำเหน็จ 2.04 หมื่นล้านบาท เฉพาะกองทุนบำเหน็จพนักงานนั้นจะต้องจ่ายสมทบ 10% ของเงินเดือนพนักงาน  ที่เหลือเป็นหนี้สินสำหรับผลประโยชน์พนักงาน 16,779 ล้านบาท ซึ่งมาจากการจ่ายเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน ค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ การจ่ายเงินค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปี ผลตอบแทนพนักงานระยะยาว บัตรโดยสารฟรีหลังเกษียณซึ่งสามารถเก็บสะสมสิทธิไว้ใช้เมื่อใดก็ได้

          แล้วที่บอกว่าหนี้ทะลุขึ้นมายืนระดับ 3.5 แสนล้านบาทนั้น มาจากไหน?

          ผมไปตามล่ามาพบว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่บริษัทการบินไทยเสนอต่อกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนั้น การบินไทยได้เสนอแผนกู้เงินและขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน 56,800 ล้านบาท โดยระบุว่าต้องการเงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป 32,000 ล้านบาท ต้องการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (credit line) 24,800 ล้านบาท

          ส่วนที่เหลือต้องการกู้เงินเพื่อบริหารหนี้เดิมอีก 10,280 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดการชำระเงินช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2562 จำนวน 3,230 ล้านบาท ครบกำหนดชำระหนี้ช่วง ม.ค.-ก.ย. 2563 อีกราว 7,050 ล้านบาท และในไตรมาส 2 นี้จะมีเงินกู้ครบกำหนด 1,500 ล้านบาท ขณะที่อีก 1,000 ล้านบาท จะครบกำหนดในวันที่ 3 พ.ค. อีก 1,000 ล้านบาท ครบกำหนดในวันที่ 23 มิ.ย.นี้

          เงินกู้ทั้งหมดยังอยู่ในจำนวนหนี้เดิม...แต่หนี้ที่พอกหางหมูโผล่มานั้นมาจากไหน

          จึงไปพบมาว่า การบินไทยมีภาระความเสี่ยงในอนาคตที่ไม่ได้แสดงในงบการเงิน เพราะยังประเมินมูลค่าไม่ได้ใน 3 กรณี คือ 1.กรณีร้องขอให้ธนาคารค้ำประกันเงินกู้ร่วม 600 ล้านบาท 2.กรณีที่อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในหลายกรณีรวม 1,500 ล้านบาท 

          3.กรณีที่บริษัทมีข้อพิพาทถูกฟ้องร้องในศาลเรียกค่าเสียหายในศาลทั้งในและต่างประเทศอีก 7 คดี ร่วม 700 ล้านบาท อาทิเช่น ถูกบริษัทถูกสายการบิน British Airways ซึ่งเป็นจำเลยในคดี Cargo Civil Case ในประเทศอังกฤษ ร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ยบริษัท เนื่องจากสายการบิน British Airways ถูกบริษัทเป็นโจทก์ฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมพิเศษ (Fuel Surcharge และ Security Surcharge) ในอังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้ประเมินวงเงิน

          ถูกฟ้องในคดี Cargo Civil Case ในสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2557 โดยกลุ่มบริษัทแอลจีอาทิเช่น  LG Chemical, LG Electronics, LG Display และ LG Life Science ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อสายการบิน 12 ราย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการร่วมกันกำหนดราคา Fuel Surcharge ระหว่างสายการบินต่าง ๆ ในช่วงระหว่างปี 2542 -2550 ทุนทรัพย์ในคำฟ้องเป็นเงิน พร้อมดอกเบี้ย 12 ล้านบาท

          ถูกสายการบิน British Airways   Lufthansa และ KLM-AF ซึ่งเป็นจำเลยในคดี Cargo Civil Case ในเนเธอร์แลนด์ยื่น คำร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ยในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2558 ซึ่งยังไม่ได้ประเมินวงเงิน

          ล่าสุดมีข้อมูลเล็ดรอดออกมาว่า การบินไทยมีภาระการค้างจ่ายคืนค่าตั๋วโดยสาร 100,000 ล้านบาท ที่เหลือ ผมคิดไม่ออกว่า หนี้เพิ่มมาจากไหนทำให้ทะลุเพดานจาก 244,899 ล้านบาท ในช่วงสิ้นปี 2562 มายืนยิ้มเผล่ต้อนรับการฟื้นฟูกิจการร่วม 354,494 ล้านบาท เอ๊ะหรือว่ามีการค้างค่าน้ำมันในพี่ใหญ่ของประเทศในกลุ่มอียู

          ถ้าหนี้ขาดนี้ ต่อให้เจ้าหนี้ยอมลดหนี้ลงให้ 50% การบินไทยก็คางเหลือง เพราะมีภาระหนี้ทะลุ 1.75 แสนล้านบาท ทำรายได้ไม่รู้กี่สิบปีจึงจะชำระหนี้ได้หมด!

​​​​​​​