โอกาสธุรกิจโลจิสติกส์ในเมียนมา

07 มิ.ย. 2563 | 03:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2563 | 11:05 น.

คอลัมน์ เมียงมองเมียนมา

 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงธุรกิจออนไลน์ในเมียนมา มีเพื่อนๆ แฟนคลับสนใจติดต่อเข้ามาเยอะพอควร ที่ขอเข้ามาพบก็มีเหมือนกัน อันที่จริงผมเองไม่ค่อยจะมีเวลาสักเท่าไหร่ ธุรกิจส่วนตัวก็หลายอย่าง อีกทั้งต้องคอยประสานงานกับทางเมียนมาในหลายๆเรื่อง จึงขออภัยที่ไม่สามารถพบได้ทุกท่านนะครับ ถ้าสนใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาจริงๆ ไม่ว่าจะเข้าไปทำธุรกิจอะไรก็ตาม ท่านสามารถติดต่อไปที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา หรือติดต่อไปที่เมืองย่างกุ้ง อาคารเมียนมา-ไทย เทรดเซ็นเตอร์โดยตรงก็ได้นะครับ จะได้ไม่เสียเวลามากครับ

มีหลายคำถามที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ผมต้องขออนุญาตมาตอบในคอลัมน์นี้ เพื่อแชร์ให้เพื่อนๆได้รับรู้ข่าวสารด้วย เพราะผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ถ้ามีคนเข้ามาแข่งขันกัน จะทำให้ตลาดเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น การทำการตลาดหรือการสื่อสารให้ผู้บริโภคให้รับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ ก็จะง่ายขึ้นไปด้วย ผมจึงไม่หวงความรู้ที่จะแชร์ให้คนอื่นๆเสมอครับ เมื่อหลายวันก่อนผมได้รับคำถามมาว่า “ธุรกิจโลจิสติกส์น่าสนใจมั้ยครับ” ผมตอบโดยไม่ต้องคิดเลยครับว่าน่าสนใจมากๆๆๆๆ เหตุผลนั้นขออนุญาตให้มาอ่านในคอลัมน์นี้นะครับ

หลังจากเกิดปรากฎการณ์ยอมรับการค้าออนไลน์ในเมียนมา แน่นอนว่าธุรกิจตามมาติดๆ ก็ต้องเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ ที่จะต้องดำเนินการส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นใกล้ไกล จะต้องทำการส่งถึงมือผู้สั่งซื้อ การค้าจึงจะสำเร็จสมบูรณ์ หากการส่งมอบสินค้ายังไม่ถึงมือผู้ซื้อ ก็ยังไม่ถือว่าสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันนี้ การคมนาคมในประเทศเมียนมา ยังไม่ได้สะดวกเหมือนอย่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่ก็ได้ปรับปรุงไปบ้างแล้ว

ถ้าเทียบกับเมื่อยี่สิบปีก่อน ถือว่าถนนหนทางได้มีการปรับปรุงไปเยอะมาก ในอดีตการเดินทางไปต่างเมืองแสนสาหัสมากๆ เอาแค่จากเมืองหลวง(ในอดีตคือย่างกุ้ง) ไปเมืองรองอย่างเมืองมัณฑะเลย์ ต้องใช้เวลาเดินทางสองวัน หรือจากย่างกุ้งลงไปยังเมืองทะวาย ก็ต้องสองวันหนึ่งคืน หรือจากย่างกุ้งไปเมืองตองจี รัฐฉาน ต้องนั่งรถสองวันหนึ่งคืนเช่นกัน ถนนหนทางยังเป็นถนนลาดยาง ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไม่ได้มีการบูรณะปรับปรุงเลย แค่คิดก็ไม่อยากเดินทางแล้ว ในยุคนั้นสายการบินก็ยังมีไม่มาก จำได้ว่ามีแค่เมียนมาแอร์เวย์ การซื้อตั๋วเครื่องบินยากมากๆ ต้องใช้คอนเน็คชั่นอย่างสูงถึงจะซื้อได้ ถ้าเป็นคนต่างชาติ เขาจะขายให้อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแพงกว่าคนเมียนมาร่วมสองเท่า แต่ในยุคนั้นผมมีความจำเป็นต้องเดินทางไปค้าขาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินทาง

แต่มาวันนี้ ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป การเดินทางด้วยเครื่องบินง่ายมากๆ สายการบินมีหลากหลายสายให้เลือก ตั๋วเครื่องบินก็ซื้อหาง่าย อีกทั้งไม่ได้แพงกว่าคนเมียนมามากมายเหมือนเก่า อีกทั้งรถโดยสารทางไกล รถก็ดูดีมากๆ ไม่แพ้ประเทศไทยเราเลยครับ รถระดับวีไอพีหรือสิบหกที่นั่ง เบาะนั่งสบายมากๆ ถนนสายหลักๆเช่นย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ก็เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์แล้ว ใช้เวลาเดินทางแค่เปดชั่วโมงก็ถึงแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งต้องเสียเวลาไปสนามบิน แล้วไปก่อนเวลาอีกเป็นชั่วโมง รอรับของอีกครึ่งชั่วโมง ก็ใช้เวลาต่างกันแค่สี่ชั่วโมงเอง บางครั้งผมจึงเลือกนั่งรถโดยสารในการเดินทางมากกว่าครับ

มาดูเรื่องการขนส่งสินค้าหรือระบบโลจิสติกส์ ปัจจุบันนี้แม้จะมีรถขนส่งมากกว่าเดิมเยอะ และเริ่มที่จะเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาสู่วงการธุรกิจโลจิสติกส์กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากจะใช้ในระบบบัญชีเสียมากกว่า ยังไม่ถึงกับเข้ามาสู่ระบบอย่างครบวงจร เช่นระบบการจัดการ ระบบการขาย ระบบคลังสินค้า ซึ่งจะเทียบกับประเทศ อื่นๆ ผมคิดว่ายังห่างไกลอีกพอควร แต่ก็เริ่มมีผู้ประกอบการจากไทยเข้าไปดำเนินธุรกิจบ้างแล้ว ที่ผมรู้จักก็ประมาณสี่รายด้วยกัน แต่ตลาดยังเปิดกว้างมาก ถ้าจะเทียบกับจำนวนบริษัทในประเทศไทย เรามีระยะทางต่อกิโลเมตรของถนนและจำนวนประชากร ปริมาณสินค้าที่จะต้องขนส่ง มากกว่าที่เมียนมาเยอะมาก

ผมคิดว่ายังมีช่องว่างให้เล่นได้อีกเยอะ ดังนั้นหากบริษัทโลจิสติกส์ไทยที่ต้องเขาเข้าไป ที่นั่นผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปแล้ว มีอยู่สองบริษัทที่เจ้าของบริษัทนั้น ท่านใจกว้างเป็นมหาสมุทรเลยครับ ทั้งสองท่านพร้อมที่จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ต้องการอยากเข้าไปดำเนินธุรกิจที่นั่น ท่านทั้งสองเองมีแนวคิดคล้ายๆกับผมที่ว่า คนไทยต้องเข้าไปเยอะๆ จะได้ไปช่วยกันจุดพลุให้ธุรกิจ ตลาดจะได้คึกครื้นจะได้สนุกๆ อีกทั้งถ้าคนชาติอื่นเข้าไปเราคงจะไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้ คงจะต้องแข่งขันกัน สุดท้ายก็เจ็บไปข้างหนึ่ง ถ้ากลุ่มคนไทยเข้าไป และร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน เป็นพันธมิตรทางการค้าด้วยกัน ทั้งสองท่านคงช่วยท่านได้เลยละครับ

 ส่วนปัญหาอุปสรรคนั้น แน่นอนครับถนนหนทางยังไม่ค่อยจะสมบูรณ์ อีกทั้งปัจจุบันนี้รถที่ใช้ ยังเป็นรถมือสองจากจีนเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายจราจรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ระบบไอทีของที่นี่ยังมีไม่มาก ดังนั้นหากจะมองในด้านบวก ก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการใหม่ๆ และยังสามารถที่จะใช้ช่องว่างในด้านนี้ เอื้อประโยชน์ได้พอควร แต่ถ้ามองในแง่ร้าย ก็เป็นอุปสรรคไปหมด ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้นต้องรู้จักหาช่องทางเองครับจึงจะอยู่รอดปลอดภัยครับ