ช่วงสัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์ทางการเมืองของรัสเซียที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันชี้ชะตาว่าผู้นำหมีขาวผู้กุมบังเหียนทิศทางของประเทศมาช้านานอย่างนายวลาดิมีร์ ปูติน จะได้อยู่ครองอำนาจต่อหรือไม่
การจัดลงประชามติครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก “เซอร์ไพรซ์” เมื่อตอนต้นปีหลังรัฐบาลรัสเซียประกาศเริ่มต้น “ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” ในเดือนมกราคม พร้อมกับการลาออกยกแผงของรัฐบาลรวมถึงนายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีคู่ใจนายปูตินมาช้านานเพื่อเปิดรับความสดใหม่ทางการเมือง และได้เดินหน้ากระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง จนผ่านการเห็นชอบจากสภาดูมาไปในเดือนมีนาคม
จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะรีบจัดประชามติกันทันทีในวันที่ 22 เมษายน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 กลับปะทุขึ้นมาเสียก่อน จนต้องขอเลื่อนไปตั้งท่า ทว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลรัสเซียก็ขอไม่รออีกต่อไป กำหนดจัดงานใหม่ขึ้นมาวันที่ 1 กรกฎาคมนี้แม้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย
หากพูดถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2536 โดยข้อเสนอในการปรับแก้ไขที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือการเปิดเงื่อนไขพิเศษให้แก่นายปูตินได้นั่งบนเก้าอี้ต่ออีก 2 สมัย
ผู้นำรัสเซียอายุ 67 ปีคนปัจจุบันมีกำหนดสิ้นสุดวาระในตำแหน่งในปี 2567 ซึ่งตามข้อกฎหมายเดิมนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเกิน 2 สมัยติดต่อกัน แต่การแก้ไขได้สร้างเงื่อนไขพิเศษยกเว้นให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก่อนรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ มีผลให้สามารถ “รีเซ็ท” วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ผ่านมาทั้งหมดทางกฎหมายของปูตินให้กลายเป็นศูนย์ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว นายปูตินจึงสามารถอยู่ต่อได้อีก 2 วาระ สมัยละ 6 ปี ยาวไปจนถึงปี 2579 ซึ่งหากสุขภาพของเขายังฟิตแข็งแรงอยู่ เวลานั้นเขาจะมีอายุ 83 ปี และหากเขาอยู่ต่อจนครบจริง เขาจะกลายเป็นผู้นำของรัสเซียที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด มากกว่านายโจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตที่ปกครองประเทศนาน 30 ปี
หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญของรัสเซียสมควรต้องมีการแก้ไข เนื่องจากฉบับปัจจุบันนั้นได้รับอิทธิพลมาจากช่วงปี ค.ศ. 1990 ซึ่งรัสเซียได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศตะวันตก และเป็นช่วงนี้ประเทศพยายามตีกรอบอำนาจคอมมิวนิสต์เดิม ทำให้อดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินนำแนวคิดของระบบการปกครองที่รวมอำนาจไว้ในมือของประธานาธิบดี ทำให้การเมืองของรัสเซียรวมศูนย์ ผูกไว้กับเครมลินอย่างแน่นหนา แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ออกความเห็นว่าแนวทางของนายปูตินตอนนี้ยังไม่ตอบโจทย์ และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของอำนาจในการเมืองของประเทศได้อยู่ดี
แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสก็ไม่เกินความสามารถของรัฐบาลรัสเซียที่จะจัดการลงประชามติครั้งใหญ่ทั่วประเทศได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีประชาชนมาออต่อคิวลงประชามติหนาแน่นจนเกินไปในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง จึงเปิดให้มีการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคมนานต่อเนื่องถึง 7 วัน
ตั้งแต่เริ่มเปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาลและนายปูตินเองโดนค้านมาตลอด ขณะเดียวกัน มีกระแสการออกมารณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์กัน แม้จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากไม่เห็นด้วยก็ควรออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเอง ดีกว่าการบอยคอตและปล่อยให้เสียงของตัวเองโดนกลืนหายไป แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าผลการลงประชามติน่าจะผ่านฉลุย แต่จำนวนของประชาชนที่มาออกเสียงและเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย อาจเป็นภาพสะท้อนความต้องการของคนรัสเซียยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ถึงจะมีการคาดการณ์ไปว่านายปูตินคงอยู่ต่อในเก้าอี้ยาวแน่ๆ แต่เจ้าตัวยังไม่เคยออกท่าทีใดๆ ที่ชัดเจนให้เห็นเท่าไหร่นักว่าตัวเขามีแผนอย่างไร จะลงสนามต่อเอง หรือจะปูทางหาผู้สืบทอดต่อจากเขาอย่างเป็นทางการ ทั้งตัวเขาเองก็ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์อย่างจริงจังว่าเขามีแผนอย่างไรในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณ ขณะที่โพลความนิยมในตัวเขา นับวันเริ่มจะคะแนนลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง