ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

21 ส.ค. 2563 | 01:23 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2563 | 08:37 น.

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์

- - - - - - - - - - - - - -

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของโลก หลายประเทศได้พยายามแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีการพัฒนาให้มุ่งหน้าไปสู่ทิศทางของความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

ยุโรป เป็นภูมิภาคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้สหภาพยุโรป (อียู) หันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดความกินดีอยู่ดีของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม แต่ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของระบบนิเวศน์ให้ได้มากที่สุด โดยอียูได้ออกนโยบายหลักของคณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบัน (2563 – 2567) ภายใต้ชื่อ "European Green Deal” มุ่งจัดการสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

นโยบายดังกล่าวเน้นการขับเคลื่อนภูมิภาคยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 และเสริมสร้างบทบาทนำของสหภาพยุโรปในการกำหนดมาตรฐานสากลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่าน ยุทธศาสตร์ “Farm to Fork” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่ “เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภค จนถึงการกำจัดขยะอาหาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผัก-ผลไม้ไทยไปโลด! ชี้ช่องบุกบาห์เรน-ตลาดอ่าวเปอร์เซีย

ตลาดน้ำผึ้งจีน: ชวนเอกชนไทยไปตีตลาดน้ำผึ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่องเทรนด์ออกกำลังกายจีน โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ตั้งเป้าหมายในการลดการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช และยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิก หรือฟาร์มเกษตรอินทรียด์ ให้มีสัดส่วน 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีเพียง 7.5% เท่านั้น

 

จึงไม่น่าแปลกใจหากกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยยกระดับเป้าหมายในการลดความเสี่ยงจากสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการช่วยให้อียู บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากภาคธุรกิจการแปรรูปอาหาร การค้าปลีก ที่มีการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่ง โกดังเก็บสินค้า บรรจุภัณฑ์ และอาหารเหลือทิ้งอีกด้วย

 

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ Farm to Fork แล้ว ในปี 2564  อียูยังมีแผนสำหรับการออกกฎหมายเพื่อจำกัดการนำเข้าโดยการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated fishing – IUU fishing) รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะงานวิจัยที่ส่งเสริมการปรับตัวและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการพื้นที่เพาะปลูกอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวยุโรปยังคงบริโภคเนื้อแดง น้ำตาล เกลือและไขมันในระดับที่สูงเกินค่าแนะนำ ในขณะที่การบริโภคธัชพืชโฮลเกรน ผลไม้ และผัก ยังน้อยเกินไป นำมาซึ่งปัญหาโรคอ้วนและเบาหวาน คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้เสนอให้ประเทศสมาชิกลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าออร์แกนิก เนื่องจากจะมีการจัดซื้อสินค้าออร์แกนิกสำหรับโรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก เพื่อให้ผู้บริโภคในยุโรปหันมารับประทานอาหารที่ผลิตจากพืชกันมากขึ้น และอียูจะยังสนับสนุนการวิจัยพัฒนาอาหารจากแมลงเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แทนเนื้อสัตว์และทดแทนเนื้อแดงอีกด้วย

ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและพฤติกรรมการบริโภคของอียู ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของไทย เพื่อปรับตัวและพัฒนาระบบการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://thaipublica.org/2016/05/green-economy-prapimphan/

http://km.oae.go.th/index.php/menu-inter/589-farm-to-fork

https://www.worldometers.info/world-population/europe-population/