การเงินมั่นคง ครัวเรือนมั่งคั่ง (2) วิธีวัดความมั่งคั่ง

30 ส.ค. 2563 | 01:00 น.

คอลัมน์เศรษฐทัศน์  โดย  รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,605 หน้า 5 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2563

 

เราจะรู้อย่างไรว่าเรามีความมั่งคั่งแล้ว? เป็นคำถามที่คนจำนวนมากอยากจะทราบ เพราะบ่อยครั้งที่ชอบบ่นว่า “ทำไมไม่รวยสักที” หรือ “เมื่อไรถึงจะรวย” เนื้อหาในตอนนี้จะอธิบายถึงวิธีวัดความมั่งคั่งว่าสถานการณ์ ที่บอกว่าเรามีอิสรภาพทางการเงิน คือ สถานการณ์อย่างไร

 

1) ก่อนจะรวยต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน 

 

ก่อนที่เราจะมีอิสระภาพทางการเงิน ควรตรวจสอบตนเองก่อนว่าอยู่รอดได้หรือไม่ ซึ่งสามารถดูง่ายๆ ได้จากอัตราส่วนความอยู่รอด (survival ratio)

 

อัตราส่วนความอยู่รอด = (รายได้จากการทำงาน + รายได้จากทรัพย์สิน) / รายจ่าย

 

ลองคำนวณรายได้และรายจ่ายของเราอย่างคร่าวๆ เป็นรายปีก็ได้ โดยที่รายได้นั้นคำนวณมาจาก ทั้งการทำงาน และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น เงินปันผลจากหุ้นและค่าเช่าจากบ้านหรือคอนโดให้เช่า เป็นต้น

 

ตัวอย่าง มาลินีเป็นพนักงานประจำของบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้จากการทำงานหลังหักภาษีต่อปี 500,000 บาท มีรายได้จากสินทรัพย์ ได้แก่ เงินปันผลจากหุ้นสามัญของบริษัทที่มีความมั่งคั่งและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีละประมาณ 10,000 บาท (จากเงินลงทุน 200,000 บาท) และมีรายได้ค่าเช่าคอนโดอีกปีละประมาณ 100,000 บาท (จากเงินลงทุน 1,500,000 บาท) มาลินีมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและอื่นๆ เท่ากับ 360,000 บาทต่อปี

 

อัตราส่วนความอยู่รอด = (500,000 + 10,000 + 100,000)/ 360,000 = 1.69 เท่า

 

จากตัวอย่างนี้ ถ้าอัตราส่วนความอยู่รอดนี้มากกว่า 1 ก็แสดงว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย หมายถึง เราสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ แต่ถ้าอัตราส่วนตํ่ากว่า 1 แสดงว่าแย่แน่ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้ารายได้เราน้อยกว่ารายจ่าย ดังนั้น ยิ่งอัตราส่วนนี้มากกว่า 1 ไปมากๆ ก็จะปลอดภัยในการอยู่รอดเท่านั้น ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่าความเป็นไทขั้นต้นคือ การอยู่รอดได้ด้วยตนเองก่อน

 

2) รอดแล้ว เมื่อไรจะรวย 

 

คนชั้นกลางส่วนใหญ่ ถูกพบว่ามีระดับอัตราส่วนความอยู่รอด เกินกว่า 1 ไปไม่มาก แม้ว่าจะอยู่รอด แต่ก็รวยได้ยากเพราะมีเงินออมซึ่งเหลือจากรายได้หักค่าใช้จ่ายก็รีบร้อนนำไปใช้จ่าย หรือใช้เป็นเงินดาวน์ในการก่อหนี้เพื่อบริโภคทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินต้นและดอกเบี้ยตามมาอีก ระดับอัตราส่วนความอยู่รอดจึงไม่ไปไหนไกลเกินกว่า 1 แล้วอย่างนี้มีวิธีไหนที่จะรู้ว่ารวยและมีอิสรภาพทางการเงิน คำตอบคือ มี และเราสามารถดูได้จาก อัตรา ส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio)

 

 

 

อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากทรัพย์สิน / รายจ่าย

 

สูตรจะคล้ายๆ กับอัตราส่วนความอยู่รอด เพียงแต่ตัดรายได้จากการทำงานออกไปก่อนและเมื่อไรก็ตามที่อัตราส่วนความมั่งคั่งมากกว่า 1 แสดงว่าแม้ว่าเราจะไม่ทำงาน เราก็มีรายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ สถานการณ์เช่นนี้ นี่เองที่เรียกว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ที่ทุกคนใฝ่ฝันหา

 

รายได้จากสินทรัพย์ในที่นี้หมายถึงรายได้ที่มาจากทรัพย์สินต่างๆ ที่เราสะสมไว้ เช่น เงินฝาก หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวนี้บ่งบอกว่า คนที่จะเป็นเศรษฐีได้ต้องมีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ดังนั้นทรัพย์สินลงทุนต่างๆ จึงเป็นฐานของความมั่งคั่งที่นำไปใช้ต่อยอดความมั่งคั่งให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งอัตราส่วนนี้มากกว่า 1 ไปเท่าใด ระดับความมีอิสรภาพทางการเงินก็สูงมากขึ้นเท่านั้น

 

 

การเงินมั่นคง ครัวเรือนมั่งคั่ง (2) วิธีวัดความมั่งคั่ง

 

 

การไม่นำรายได้จากการทำงานมาคิด ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีอิสรภาพทางการเงินเป็นคนขี้เกียจ ที่จริงเมื่อเรามีอิสรภาพทางการเงิน เราจะยังทำงานอยู่ต่อไปก็ได้ ดีเสียอีก เพราะจะยิ่งทำให้อัตราส่วนความมั่งคั่งเพิ่มสูงมากขึ้น แต่การทำงานของคนที่มีอิสรภาพทางการเงินจะลดความกดดันลงไปมาก เพราะไม่ได้คิดว่าทำงานเพราะต้องการความอยู่รอด ในทางตรงข้ามจะสามารถสร้างสรรค์การทำงานให้เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มที่จากอัตราส่วนความมั่งคั่ง

 

จะเห็นได้ว่ามนุษย์เงินเดือนยากมากที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะหลายๆ คนยังพึ่งพิงรายได้จากการทำงานเป็นเงินเดือนอย่างมาก และเมื่อไม่นำรายได้ส่วนนี้มาคิด หลายๆ คนจะมีอัตราส่วนความมั่งคั่งที่ตํ่ากว่า 1 การเรียนรู้เรื่องการลงทุนในทรัพย์สินประเทศต่างๆ หาหนทางที่จะทำรายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ ถือว่าเป็นเคล็ดลับสำหรับผู้ต้องการอิสรภาพทางการเงินทุกคน 

 

3) ความมั่งคั่งเขาวัดกันอย่างไร 

 

จากหัวข้อที่แล้ว ถ้าเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน การมีทรัพย์สินมากๆ ก็สามารถเป็นฐานของการสร้างความมั่งคั่งได้ คนที่มีทรัพย์สินมากก็มีโอกาสมีอิสรภาพทางการเงินได้มาก อย่างไรก็ดีต้องเป็นทรัพย์สินที่ปลอดภาระหนี้สินด้วยก็จะดี เพราะบางครั้งการได้มาของทรัพย์สินเราบางครั้งก็มีหนี้สินตามมาด้วย เช่น เราซื้อบ้านราคา 4 ล้านบาท โดยใช้เงินตนเองบางส่วน 5 แสนบาท และต้องกู้ธนาคารอีก 3.5 ล้านบาท แสดงว่าทรัพย์สิน 4 ล้านนี้มีภาระหนี้ 3.5 ล้านบาทตามมาด้วย ดังนั้นการจะวัดความมั่งคั่งของบุคคลจึงดูจากมูลค่าทรัพย์สินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งแสดงได้ดังนี้

 

 

 

ความมั่งคั่ง = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ = มูลค่าทรัพย์สินรวมของบุคคล - หนี้สินรวมของบุคคล

 

ยิ่งบุคคลมีทรัพย์สินสุทธิมีมูลค่ามากเท่าใด ก็มีโอกาสจะสร้างความมั่งคั่งได้มากเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า 

 

ทรัพย์สินที่มีอยู่มีโอกาสสร้างรายได้ ได้มากน้อยเพียงใด

 

ทรัพย์สินที่เป็นตัวเรา (มนุษย์) สามารถทำงานหารายได้ได้มากน้อยเพียงใด

 

ปริมาณและคุณภาพของทรัพย์สินของบุคคลจะเป็นเครื่องบ่งบอกโอกาสของการสร้างความมั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงิน

 

เมื่อเรารู้ว่าการวัดความมั่งคั่งดูได้จาก ขนาดและมูลค่าของทรัพย์สินสิทธิ ยิ่งในแต่ละปีเราสามารถเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิได้มากขึ้น ความมั่งคั่งของเราก็จะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการบรรลุอิสรภาพทางการเงินโดยตรง แต่การมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากๆ จะส่งผลดีไปยังโอกาสการสร้างรายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้นได้มากขึ้นจนเมื่อถึงระดับที่เกินกว่าค่าใช้จ่ายของบุคคลไปมากๆ เราจึงจะเรียกว่าอิสรภาพทางการเงิน

 

แม้ว่าความมั่งคั่งจะถูกมองไปที่การมีทรัพย์สินสุทธิคงเหลือในมูลค่ามาก แต่ก็ต้องเข้าใจต้นตอด้วยว่า การเริ่มต้นจะเกิดจากการใช้ร่างกายของเราทำงาน ซึ่งต้องหาวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการหารายได้ (แต่ก็ต้องให้เกิดความสมดุลกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย) และต้องควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และต้องสร้างวินัยในการออม

 

ถัดจากนั้นก็ต้องรู้จักการนำเงินออมไปลงทุนในทรัพย์สิน โดยพื้นฐานก็คือ เงินฝาก แต่ถัดจากนั้นก็ต้องเรียนรู้ทรัพย์สินลงทุนประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสที่ทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งจะโยงไปยังการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินสุทธิในที่สุด

 

อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากยังคุ้นเคยกับวิธีสะสมทรัพย์สินลงทุนใน รูปแบบเดิม เช่น เงินฝากธนาคาร ซึ่งผลตอบแทนน้อยแลกกับความเสี่ยงที่ตํ่ากว่าการลงทุนในทางเลือกอื่น ซึ่งอันนี้ ก็ไม่ว่ากัน เพราะเป็นสไตล์ความชอบ แต่ถ้าให้ผู้เขียวิเคราะห์ก็ต้องบอกว่าวิธีนี้เหมาะสมกับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย 

 

แต่ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้มาก คุณก็ต้องเรียนรู้กาลงทุนในรูปแบบอื่นด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หลักทรัพย์ เป็นต้น และควรกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสหาผลตอบแทนให้สูงขึ้น (แต่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ด้วย) ทำให้อัตราเร่งหรือระยะเวลาที่จะบรรลุอิสรภาพทางการเงินมีโอกาสจะเป็นจริงได้เร็วขึ้น 

 

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การรู้จักเก็บออม (เช่น การฝากธนาคาร) เป็นสิ่งที่ดี ตรงกับแนวคิดที่เรียกว่า “การสร้างความมั่งคั่ง” (Wealth creation) แต่การลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ เป็นเทคนิคของ “การต่อยอดและสะสมความมั่งคั่ง” (Wealth Accumulation) ซึ่งต้องต่อด้วยคำว่า “ที่มีความเสี่ยง” เพื่อเตือนใจเราตลอดเวลาในการวาง แผนทางการเงิน