โลกอันมืดมิดสายการบิน รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท”

28 ส.ค. 2563 | 12:25 น.

โลกอันมืดมิดสายการบิน! รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3605 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-2 ก.ย.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

โลกอันมืดมิดสายการบิน!

รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท”
 

     นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสวายร้าย ธุรกิจสายการบินทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาเดียวกันคือ “จอดสนิท”
 

     ปฏิบัติการบิน การเดินทางระหว่างเมือง การเดินทางระหว่างประเทศ ของทั้งโลก แทบจะมีไม่ถึง 10%
 

     คำถามคือผู้ประกอบการ ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ทำอย่างไร
 

     โจ-ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เคยบอกกับผมชัดเจนว่า “ผมต้องอึดครับพี่ ต้องลอยคอไม่ให้จมให้ได้ ระหว่างนี้สายการบินต้องช่วยตัวเองไปก่อน ใครตายก็ตาย ใครอยู่ก็อยู่ หรือรัฐบาลจะปล่อยให้ตาย”
 

     ผมถามโจว่ารัฐบาลช่วยอะไรบ้าง เขาบอกว่า นับตั้งแต่วิกฤติคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ช่วยบรรเทาผลกระทบ ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ของสายการบิน จากที่เคยออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมเพียง 50% ให้ทุกสายการบินที่เข้ามาจอดเครื่องบินฟรี จนเหตุการณ์คลี่คลาย
 

     ขยายเวลาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สายการบินที่ทำการบินเข้าออกประเทศไทย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ กพท.จำนวน 15 บาท/คน ใน 15 วัน ทำการ หากเกิน ต้องเสียค่าปรับ เป็นจ่ายภายใน 90 วันทำการแทน
 

     แต่ไม่พอเยียวยาธุรกิจการบินที่จอดกันระนาว แรงงานที่เกี่ยวข้องเป็นแสนคนต้องขาดรายได้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายก สั่ง คลัง หาซอฟท์โลนช่วย 7 สายการบิน 2.4 หมื่นล้าน
 

โลกอันมืดมิดสายการบิน รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท”

     โจ-ธรรศพลฐ์ ออกแรงพาบรรดาผู้บริหารสายการบินไปพบรัฐมนตรีในรัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างน้อย 3-4 ครั้ง เพื่อขอ "เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยสภาพคล่องของธุรกิจ” แต่ดูเหมือนจะอึมครึมไม่ตกผลึกในทางความคิด
 

     ท่ามกลางอุตสาหกรรมการบินที่ล้มคว่ำคะมำหายกันระนาว สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยแพร่บทวิเคราะห์ หนี้อุตสาหกรรมสายการบินโลกอาจพุ่งถึง 5.5 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 17.5 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2563
 

     และถ้าพิจารณาจากจำนวนหนี้สิน IATA บอกว่า บรรดาสายการบินทั้วโลกจะมีหนี้เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.82 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร่วม 28-30% จากเมื่อต้นปี
 

     อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IATA ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังช่วยเหลือเพื่อรักษาอุตสาหกรรมสายการบินเอาไว้ แต่ความท้าทายต่อไปคือ การป้องกันไม่ให้สายการบินปิดกิจการ
 

     IATA ระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกรับปากให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบิน 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ต้องกันไว้สำหรับใช้หนี้ ขณะที่เงินที่เหลือส่วนใหญ่ใช้กับการอุดหนุนค่าจ้าง 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นแหล่งระดมทุนผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ และอุดหนุนภาษี 9,700 ล้านดอลลาร์ เงินก้อนนี้อาจหมดไปราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 เท่านั้น
 

     IATA ระบุว่า รัฐบาลหลายประเทศเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบินในช่วงสถานการณ์อันยากลำบาก รวมถึงการอัดฉีดเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย แต่ยังมีรัฐบาลที่ตอบสนองช้าหรือให้อัดฉีดเงินอย่างจำกัด จนทำให้มีสายการบินล้มละลาย เช่น ออสเตรเลีย อิตาลี ไทย ตุรกี และสหราชอาณาจักร
 

     แปลว่ารัฐบาลไทย ช่วยสายการบินช้าไป
 

     แต่แล้วในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 โลกของสายการบินมืดมนก็เปิดออก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดตึกไทยคู่ฟ้า ให้ผู้บริหารสายการบินเข้าพบ เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย คณะผู้บริหารสายการบิน ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยสมายล์แอร์เวย์ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท บางกอกแอร์เวย์ส และนกแอร์
 

     ภาครัฐมี ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง   ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แสดงว่ามีการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการรับฟังข้อคิดเห็น ปัญหาของภาคเอกชน
 

โลกอันมืดมิดสายการบิน รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท”

     ผมติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง สอบถามแล้วได้ความว่า ข้อเสนอจากธุรกิจสายการบินมี 3 ประเด็น
 

     1.ขอให้มีมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)  ราว 2.4 หมื่นล้านบาท มาให้ผู้ประกอบการกู้ยืมมาใช้ปฏิบัติการการบิน เพราะตอนนี้สายการบินแต่ละรายมีเงินสดในมือเพื่อบินได้ไม่ถึง 1 เดือนแล้ว
 

     2.การขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน  ซึ่งเดิมนั้นจะหมดระยะเวลาลงมในเดือนกันยายนนี้และหลังจากนั้นจะเก็บ 4.5 บาทกว่า
 

     3.การยกเว้นและการลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการดำเนินงานของสายการบินลงมา ปกติแล้วค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานเท่ากับ 32,175 บาท
 

     ผู้เข้าร่วมหารือในครั้งนี้บอกว่า พอนายกฯ รับปากให้เข้าพบทุกคนเหมือนยกภูเขาออกจากอก และพอหารือทุกคนกลับบ้านอย่างมีความหวัง สายการบินยิ้มออกได้แล้ว
 

     นายกรัฐมนตรีได้รับปากจะช่วยเหลือดูแลธุรกิจสายการบินตามข้อเสนอ และยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
 

     เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) น่าจะได้ในเดือน ต.ค.นี้
 

     การขยายระยะเวลาลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าจอดเครื่องบิน ค่าเซอร์วิสชาร์ต ค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร น่าจะขยายให้ยาวกว่า 1-2 ปี
 

     ถ้าเป็นแบบนี้ ผมเห็นทางออกประเทศ หลายคนลืมไปว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 หลังโปรดเกล้าฯ ครม.ใหม่ นายกฯลุงตู่ ประกาศ 5 งาน ในการแก้วิวิกฤติเศรษฐกิจประเทศ
 

     งานที่ 1: เราต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ต่อไปอีกโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา
 

     งานที่ 2: เราต้องแก้ปัญหาต่างๆ ในแนวทางที่จะช่วยประเทศอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เงินเยียวยากันไปตลอด ดังนั้นต้องเริ่มทำโครงการที่จริงจัง ทำให้ได้ ที่จะช่วยแก้ปัญหาปัจจุบัน
 

     นอกจากนั้น ต้องเตรียมการที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืน เมื่อโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราต้องทำโครงการที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ และเราจะต้องใช้เงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และให้ความช่วยเหลือไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ โดยใช้กลไก โครงสร้าง คณะกรรมการ และศูนย์บริหารสถานการณ์ที่มีการทำงานบูรณาการกัน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
 

     งานที่ 3: ต้องสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงการจ้างงานลูกจ้างของเค้าต่อไป และให้ธุรกิจต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้ พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
 

     งานที่ 4: เราต้องมีแผนเรื่องการจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเขาจำเป็นต้องมีงานทำ
 

     งานที่ 5: คืองานที่เกี่ยวกับการทำงานต่างๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส่ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคมมีบทบาทหน้าที่ ที่จะช่วยกันนำพาประเทศ ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้
 

     การรับฟังปัญหา และการลงมือสะสางปัญหาแบบนี้แหละที่จะพาไทยรอด!
 

โลกอันมืดมิดสายการบิน รัฐไม่ช่วย“ตายสนิท”

ข่าว :: “ถาวร” เปิดผลสอบแกะปม “การบินไทย”ทำไมเจ๊ง