สื่อไร้หัวใจ วงจรที่โหดร้าย

01 ก.ย. 2563 | 12:25 น.

สื่อไร้หัวใจ วงจรที่โหดร้าย : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3606 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สื่อไร้หัวใจ

วงจรที่โหดร้าย
 

     ระยะกว่า 30 วัน ผมพยายามเกาะติดปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อพิจารณาหาเหตุและผลที่อารมณ์ของผู้คนในสังคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่แปรปรวน รุนแรง
 

     ปรากฏการณ์ของ #ให้มันจบที่รุ่นเรา ที่ขยายวงออกไปกว้างขวางในหมู่คนรุ่นใหม่ มันมีการจัดตั้งหรือเป็นอารมณ์ร่วมของสังคมที่แท้จริง
 

     ปรากฏการณ์ #หยุดคุกคามประชาชน ที่กระจายตัวออกไปแทบทุกอณู
 

     ปรากฏการณ์ #เยาวชนปลดแอก ที่แพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง
 

     ปรากฏการณ์ขณะนี้ที่ติด #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ ที่มีการจุดพลุผ่านทางทวิตเตอร์
 

     อะไรที่ทำให้โลกโซเชียล และคนรุ่นใหม่ตอบรับอย่างรวดเร็ว?

     กระทั่ง “ซูเปอร์โพล” ทำการสำรวจภาคสนาม และการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” จำนวน 22,046 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” จำนวน 1,497 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 - 28 สิงหาคม 2563 ผ่านระบบ Net Super Poll พบข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ จำนวนผู้ใช้โซเชียลเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในวันม็อบ 16 สิงหาคม จำนวน 148,034 ผู้ใช้งาน และมีข้อมูลรวมจากต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยถึง 7,928,492 ผู้ใช้งาน
 

     ขณะที่ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปีทั่วประเทศ 11,056,769 คน อ้างอิงจากกรมการปกครอง ในปี พ.ศ. 2562 จึงเห็นได้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหว “หยุดคุกคามประชาชน” ในโซเชียล  148,034 ผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 1.34 เท่านั้น ซึ่งยังต้องแยกกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ามาผสมโรงออกไปอีกในโอกาสต่อไป
 

     ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองสงบสุขได้มากกว่านี้มากถ้าไม่มีการสร้างปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรง เพราะระดับกระแสเฉพาะคนในประเทศไทยถูกเติมเชื้อไฟจากต่างประเทศเข้ามาทำให้เกิดภาพลวงตา ปลุกเร้าอารมณ์ให้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนกำลังตกเป็นเครื่องมือ โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีออนไลน์เชื่อมต่อลงพื้นที่จริง (Online-OnGround) ทำให้เกิดภาพกระแสแรงในโซเชียล
 

     ผลการศึกษาระบุว่า มีกระปลุกปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรงโดยเฉพาะช่วงนี้จะหนาแน่นจากกลุ่มประเทศในอาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันตก เสมือนเกิดสงครามโลกที่ประเทศไทยกำลังตกเป็นประเทศที่ถูกรุมถล่มให้ “เสาหลักของชาติสั่นคลอน”
 

     ถ้ามีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกโดยมีกติกา คัดกรอง แยกกลุ่มออกให้ชัด จะไม่ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของขบวนการก่อการให้เกิดความรุนแรงในสังคมเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง
 

     ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดความกระจ่างได้ว่า มีขบวนการปั่นในโลกโซเชียลมีเดียที่รุกคืบเข้ามาในชีวิตคนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
 

     ผมเคยอ่านบทความที่เขียนโดย พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักเทคโนโลยีสื่อสาร ในหัวข้อสื่อไร้หัวใจ วงจรที่โหดร้าย ในสถาบันอิศรา...ขอยกมาให้พิจารณาเพื่อจะได้รู้โลกร่วมกัน
 

     “ก่อนเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่ถือได้ว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะเนื้อหาสาระของข้อมูลมาจากปลายปากกาและคำพูดของ นักเขียน นักข่าว ที่มีตัวตนและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนทั่วไปและข้อมูลยัง ถูกกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการที่ผ่านประสบการณ์การทำสื่อมาอย่างโชกโชนด้วยความเป็นมืออาชีพ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ข่าวสารรอบตัวเรากลายเป็นข่าวสารจากคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักทั้งจากแหล่งข่าวที่เป็นมนุษย์ด้วยกันเองและเครื่องมือสร้างข่าวสารระบบอัตโนมัติที่เรียกกันว่า “ปัญญาประดิษฐ์”
 

     ผู้บริโภคสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียจึงถูกอิทธิพลจากปลายนิ้วที่มองไม่เห็นครอบงำโดยไม่รู้ตัว เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างข่าวและผู้บริโภคข่าวได้ในเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็น สื่อสายพันธุ์ใหม่ที่มีพลังและสร้างความท้าทายต่อสื่อกระแสหลัก สถาบันทางสังคมและความเชื่อต่างๆ ที่ยืนยงคู่ประเทศมาอย่างยาวนานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 

     ข่าวสารมากมายบนโซเชียลมีเดีย เป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวและสร้างปัญหาแก่สังคมด้วยเจตนาของผู้ปล่อยข่าวและข้อมูลไม่น้อยที่พรั่งพรูมาจากโซเชียลมีเดีย คือข้อมูลประเภทบูลชิท ซึ่งถูกนำไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจขายความสนใจ และเป็นแหล่งทำเงินของเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตลอดมา แม้ในบางกรณีแพลตฟอร์มเหล่านี้จะถูกข้อครหาว่าเป็นการทำธุรกิจด้วยวิธี คอร์รัปชันทางข้อมูล

     อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีผลกระทบต่อคนทั้งโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดทางพฤติกรรมทำให้เราต้องหันไปเช็กโทรศัพท์ตลอดทั้งวันอย่างไร้เหตุผลแล้ว ยังได้สร้างความรู้สึกถึงสถานะ ความเป็นปัจเจกบุคคล ความเป็นกลุ่มก้อนและการแบ่งขั้วทางความคิด ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อย่างชัดเจน จนดูเหมือนว่าสังคมโลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย
 

     ปรากฏการณ์การแสดงออกของผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์การของ กระจายอำนาจ ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อโซเชียลทั้งในทางที่เป็นคุณและผลกระทบในทางลบ ที่กำลังกัดกร่อนสังคมลงทุกวัน โดยไม่มีใครคิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
 

     โซเชียลมีเดียรู้จักตัวตนของเรามากกว่าที่เราคิด เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราล็อกอินเข้าไปยังโซเชียลมีเดีย อัลกอริทึม (Algorithm : ลำดับคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน) ของโซเชียลมีเดีย จะสนใจในทันทีว่า เรากำลังอ่านอะไร อ่านนานเท่าไร เป็นเพื่อนกับใคร ชอบข้อมูลประเภทไหน ฯลฯ และพร้อมที่จะป้อนข้อมูลที่คิดว่าเราชอบ หรืออยากอ่านมาให้ตลอดเวลา ที่เราเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียนั้น และเมื่อใดก็ตามที่เราหายหน้าไป อัลกอริทึมซึ่งเป็นความลับของเจ้าของแพลตฟอร์ม มักจะถวิลหาเราอยู่เสมอ โดยการส่งข้อความทักทายไม่ขาดระยะ ด้วยการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ตลอดทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งแปลว่าทุกวินาทีที่เราอยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย เรากำลังถูกบงการ ด้วยอัลกอริทึมที่ เราไม่รู้จัก ไม่มีชีวิตจิตใจและไร้ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังเช่นมนุษย์
 

     การที่เราเข้าไปอยู่ในวงจรของโซเชียล มีเดีย เราจึงถูกควบคุมด้วยปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ปัจจัยด้วยกันคือ
 

     ๏ ถูกควบคุมด้วย เนื้อหาของข้อมูลที่ผู้สร้างข้อมูลต้องการสื่อให้เห็น
 

     ๏ ถูกควบคุมด้วย อัลกอริทึมของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย
 

     ๏ ถูกควบคุมด้วยความเห็นจากผู้สนับสนุน
 

     ทันทีที่เราได้อ่าน พาดหัว เนื้อหา หรือกดไลก์ หรือ แชร์ข้อมูล ที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะพยายามป้อนข้อมูลที่ใกล้เคียง หรือเหมือนกับข้อมูลที่เราให้ความสนใจให้กับเราตลอดเวลาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการพยากรณ์จากข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปและพยายามยัดเยียดสิ่งที่อัลกอริทึม คิดว่าเราอยากอ่านหรือ อยากได้ยิน เพื่อให้เราใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียนั้น ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหวังผลจากรายได้จากการโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของโซเชียลมีเดีย
 

     ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องตกอยู่ในกับดักทางความเชื่อ คือ อัลกอริทึมจะกีดกันไม่ให้เรามองเห็นข้อมูลชุดอื่นที่ต่างจากข้อมูลที่อัลกอริทึมกำลังแสดงให้เราเห็น ดังนั้น ความสนใจของเราจึงถูกควบคุมด้วยอัลกอริทึมนั้นๆ อย่างไม่มีทางเลี่ยง ผ่านกลไกประเภท Recommendation engine หรือกลไกอื่นที่คล้ายๆ กัน
 

     การเข้าไปอยู่ในวงจรที่ถูกควบคุมด้วยอัลกอริทึม ด้วยการคลิกและอ่านข้อความบนจอที่เราให้ความสนใจ จึงเป็นเสมือนการเข้าไปอยู่ในวงจรของกลุ่มคนที่คิดแบบเดียวกัน หรือเข้าไปอยู่ในห้องเสียงสะท้อนที่ทุกคนคิด หรือมีความเห็นไปในทางเดียวกัน ด้วยการจัดการของ อัลกอริทึมและมักจะปฏิเสธความเห็นที่แตกต่าง แม้ว่าจะมีข้อมูลอื่นยืนยันว่าความเชื่อที่อยู่ในห้องเสียงสะท้อนนั้น ไม่เป็นความจริง ก็ตาม
 

     นอกจากนี้การถูกเน้นย้ำด้วยข้อมูลชุดที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับความเชื่อเดิมของตัวเอง หรือ ข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้าที่เรียกว่า ความลำเอียงเพื่อการยืนยันจึงเป็นการย้ำความเชื่อ ที่ทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรความคิดเดิม เพื่อแสวงหาความจริง ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง และ Confirmation bias คือ ตัวเร่งสำคัญให้มีการแพร่ข้อความที่ไม่ถูกต้องไปบนโลกอินเทอร์เน็ต
 

     สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อของผู้คนให้ทวีขึ้นไปอีก คือ การกดไลก์ กดแชร์ และความเห็น จากผู้สนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมสูง หรือผู้มีชื่อเสียง เช่น นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ
 

     ยิ่งทำให้ความเชื่อเหล่านี้ฝังแน่น จนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
 

     จริงหรือไม่ ลองพิจารณา!