กรณีผู้ครอบครองที่ดินได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ตามคำขอ โดยอ้างว่ามีหน่วยงานอื่นยื่นคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เช่นนี้ ... หากผู้ยื่นคำขอประสงค์จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล จะต้องฟ้องภายในกำหนดเวลาใด?
นับเป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับผู้ครอบครองที่ดินทุกท่าน ซึ่งสามารถหาคำตอบได้ในอุทาหรณ์จากคดีปกครองที่นำมาฝากในวันนี้ ...
เหตุของคดีเกิดเมื่อ ... นางต้อยติ่งซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ยื่นคำขอลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 เพื่อขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 แจ้งว่า กรมธนารักษ์คัดค้านการออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุ ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งบ้านพักศึกษาธิการอำเภอและจัดให้เช่า ซึ่งนางต้อยติ่งได้สอบถามความคืบหน้าในการรังวัดออกโฉนดที่ดินมาโดยตลอด และเจ้าพนักงานที่ดินก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 และลงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้
นางต้อยติ่งเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ราชพัสดุ การคัดค้านของกรมธนารักษ์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการรบกวนสิทธิของตน และการที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดที่ดินตามคำขอเป็นการละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งกรมที่ดินในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต้องร่วมรับผิด
นางต้อยติ่งจึงยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ และห้ามกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ยุ่งเกี่ยวหรือรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท
ประเด็นสำคัญของคดี คือ นางต้อยติ่งยื่นคำฟ้องภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การฟ้องว่ากรมธนารักษ์กระทำการไม่ชอบ เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งนางต้อยติ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กรมธนารักษ์คัดค้านการออกโฉนดที่ดิน และการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว ศาลสามารถออกคำบังคับโดยสั่งห้ามการกระทำ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) นางต้อยติ่งจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง โดยต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
แม้จะไม่ปรากฏว่านางต้อยติ่งได้รับแจ้งหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ที่แจ้งเรื่องคัดค้านของกรมธนารักษ์วันใด แต่โดยที่มาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบ 7 วันนับแต่วันส่ง (กรณีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับภายในประเทศ) จึงถือว่านางต้อยติ่งควรได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 และต้องฟ้องกรมธนารักษ์ภายใน 90 วันนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2559
ส่วนการที่นางต้อยติ่งฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินว่าละเลยต่อหน้าที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้ตามคำขอนั้น ถือเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และศาลสามารถออกคำบังคับโดยสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนดได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) นางต้อยติ่งจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง และต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 แจ้งให้นางต้อยติ่ง ทราบว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ เนื่องจากมีผู้คัดค้านและไม่สามารถทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ โดยที่ไม่ปรากฏว่านางต้อยติ่งได้รับหนังสือวันใด กรณีถือว่านางต้อยติ่ง ควรได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 ตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และต้องฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินและกรมที่ดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560
การที่นางต้อยติ่งยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ เจ้าพนักงานที่ดิน และกรมที่ดินทั้งสองกรณีต่อศาล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ถือเป็นการยื่นคำฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ศาลปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 8/2563)
สรุปได้ว่า ... เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายต้องศึกษาเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ซึ่งการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบหรือละเลยต่อหน้าที่ ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครองจากหน่วยงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เมื่อไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าผู้รับได้รับหนังสือในวันใด ให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบกำหนด 7 วันนับแต่วันส่ง และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นแล้ว
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕ และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)