อุทาหรณ์จากคดีปกครองวันนี้...เป็นเรื่องเจ้าของอาคารที่ถูกแผงลอยปิดบังหน้าอาคาร ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเทศบาล กรณีละเลย หรือล่าช้าต่อหน้าที่ในการจัดระเบียบการค้าขาย ปล่อยให้มีการตั้งแผงลอยจำหน่ายสินค้าในลักษณะถาวรบนบาทวิถีและบนถนน ซึ่งเป็นที่สาธารณะที่ไม่มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่ผ่อนผันให้ค้าขายได้ จนทำให้ทางสาธารณะกลายเป็นตลาด การสัญจรไม่สะดวก และไม่มีการเก็บกวาดทำความสะอาด ทำให้มีขยะ นํ้าขัง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม สกปรก เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย และเป็นเหตุให้อาคารของผู้ฟ้องคดีไม่มีผู้มาขอเช่าและเสื่อมราคา
ผู้ฟ้องคดีได้เคยมีหนังสือร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีขอให้แก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่เป็นผล จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) แก้ไขปัญหาดังกล่าว และชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้และการเสื่อมมูลค่าของอาคาร จำนวน 100,000 บาท
มาดูกันว่า...สุดท้ายแล้วความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ และค่าเสียหายที่ขอนั้นศาลจะกำหนดให้หรือไม่ เพียงใด มาติดตามคำตอบกันครับ...
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เทศบาลมีหน้าที่ในการรักษาทางบก ทางนํ้า และรักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในเขตเทศบาล โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
แต่นายกเทศมนตรีได้ปล่อยให้มีการตั้ง วาง กองวัตถุ ตลอดจนจำหน่ายสินค้าบนถนนสาธารณะ และทางเท้าที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้สัญจรได้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และถือเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกเทศมนตรีได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ ทั้งที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีสิ่ง ผิดกฎหมายปรากฏอยู่ในบริเวณถนน และหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดี และดำเนินการกับบุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไปภายในระยะเวลาอันสมควร
แต่กลับมีการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเพียงบางรายในลักษณะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งที่ทราบปัญหาดังกล่าวมาไม่ตํ่ากว่า 10 ปี โดยอ้างว่าเนื่องจากมีการขายสินค้าบริเวณดังกล่าวมานานกว่า 20 ปี จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างละมุนละม่อม เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด
รวมทั้งกำลังจัดหาสถานที่เหมาะสมเพื่อทดแทนนั้น ไม่อาจรับฟังได้ อีกทั้งการละเลยล่าช้าดังกล่าว ยังส่งผลให้มีผู้ค้าขายจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีจึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เทศบาลในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่นายกเทศมนตรีสังกัดอยู่ จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
สำหรับการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ศาลกำหนดให้ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับชดใช้ ต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการ กระทำละเมิดดังกล่าวด้วย ศาลจึงไม่อาจกำหนดความเสียหายในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าขาดรายได้จากการเช่าให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ เพราะการที่จะมีผู้ตัดสินใจเช่าอาคารย่อมเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ในส่วนค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของอาคาร
เมื่อผู้ฟ้องคดียังคงได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากปัญหาพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงลอยจำหน่ายสินค้าริมถนน มีการตั้ง วาง สิ่งของบนทางเท้าปิดบังหน้าอาคาร และยังคงต้องประสบกับปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญที่เกิดขึ้นหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดีอยู่ ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมสิทธิบางส่วนในการใช้สอยอาคารหรืออาจทำให้อาคารของผู้ฟ้องคดีเสื่อมค่าลงได้ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำนวน 50,000 บาท
จึงพิพากษาให้นายกเทศมนตรีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาทางสาธารณะ รวมทั้งขจัดเหตุเดือดร้อนรำคาญโดยไม่ให้มีการวางแผงขายสินค้าบนทางเท้า ปิดบังหน้าอาคารของผู้ฟ้องคดี
ตลอดจนซ่อมแซมบาทวิถี ท่อนํ้าทิ้ง ฝาปิดท่อนํ้าทิ้งบริเวณหน้าอาคารดังกล่าว และให้เทศบาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 50,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 429/2562)
สรุปได้ว่า...เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุเดือดร้อนรำคาญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และจะต้องแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว หรือภายในระยะเวลาอันสมควร โดยใช้มาตรการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามลำดับ
ไม่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่เช่นในกรณีนี้ ที่ทำให้เจ้าของอาคารเดือดร้อนมากว่า 10 ปี ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าว หน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ก็จำต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ในสังกัด
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)