เหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อโรคโควิด-19 (Covid-19) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกอย่างรุนแรงในทุกมิติ ไม่ว่าทางด้านสังคมที่วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนไปเป็น new normal เราได้เห็นการเชื่อมโยงของด้านสังคม เทคโนโลยี สาธารณสุขในทุกบริบท รวมถึงการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความผูกพันและเกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน สิ่งที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งมีผลต่อเนื่องไปด้านอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากน้อยก็ขึ้นกับการจัดการทางมาตรการและการบริหารของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งผลกระทบนั้นมีทั้งปัญหาและโอกาสที่เกิดใหม่
สิ่งที่เราเห็นในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสนั้น ปัจจัยที่กำหนดความอยู่รอด และความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งรัฐต้องเร่งดำเนินการทั้งในระยะสั้นและวางมาตรการเพื่อสร้างฐานที่มั่นคง และพร้อมสำหรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างไร ผมลองสรุปให้เห็นเป็นเรื่องตามความเร่งด่วน ดังนี้
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่รัฐให้ความช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นไปแล้วในหลายรูปแบบ แต่ยังไม่สามารถช่วยธุรกิจให้รอดได้ และเมื่อการระบาดของไวรัสยังคงอยู่อีกนาน ซึ่งผู้บริโภค ลูกค้า กติกาสังคม และมาตรการของรัฐคือปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดังนั้น รัฐจะต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบของ SME ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความสามารถของธุรกิจ
และที่สำคัญต้องผูกไปกับมาตรการทางการเงินและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างครบถ้วนในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพในการวางมาตรการ รวมทั้งกำกับ ติดตาม และมีหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน หากใช้แต่มาตรการทางการเงินอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น soft loan แบบไหนก็ตาม โอกาสที่หลาย SME จะไปต่อในเวทีธุรกิจวิถีใหม่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะคู่แข่งและลูกค้าได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว
การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสสูงและเหมาะสมกับ new normal เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์สมัยใหม่ การจัดการห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ที่ดูความเสี่ยงการ disruption ของ Global Supply Chain โดยให้ความสำคัญกับกิจการที่เป็นหัวใจหรือวิกฤติ (Critical point) ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญทั้งหมด เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของการดำเนินงาน
หากมีสถานการณ์หรือเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการจัดการทั้งระบบ ในด้านอุปสงค์ อุปทาน การวิจัยและพัฒนา ความรู้ และมาตรฐาน โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่ต้องร่วมมือตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษาในสาขาต่าง ๆ หน่วยมาตรฐาน และผู้ผลิต ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการบูรณาการในเรื่องนี้เพราะขาดนโยบายภาพรวมและหน่วยงานเจ้าภาพ หากผ่านช่วงเวลาที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ โอกาสจะผลักดันจริงจังจะยากมากขึ้น
การปรับเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการในอุสาหกรรมและ SME ใหม่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งสภาพแวดล้อมใหม่ของธุรกิจ เช่น การปรับเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์ รวมทั้งการเชื่อมโยงการผลิตตลอดห่วงโซ่โดยระบบดิจิทัล เพื่อให้เป็น Connected Industries อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารและการผลิต และการวางแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถสร้างโอกาสและประสิทธิภาพให้ SME สามารถเกาะเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสภาพแวดล้อมธุรกิจสมัยใหม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก้าวสู่การเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานในระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมดแล้ว
มีมาตรการในการคัดกรองเพื่อรองรับการกระจายตัวของการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากจีนและอื่น ๆ ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้เพื่อหาแหล่งกำเนิดสินค้าและการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจให้ออกไปหลายแหล่ง เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อการหยุดชะงักการผลิตในพื้นที่ใดที่หนึ่งที่จะส่งผลต่อระบบการผลิตทั้งห่วงโซ่ เราต้องมีการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่เข้ามาให้สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน การคัดเลือกเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเข้ามาทำธุรกิจของต่างด้าวและการเข้ามาทำงานของผู้ชำนาญในเฉพาะสาขาที่ต้องการจริง ๆ ฯลฯ
เร่งปฏิรูปการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศรูปแบบใหม่ โดยให้การสนับสนุน และเป็นการให้แรงจูงใจเฉพาะตามความต้องการของนักลงทุนเป็นราย ๆ เพราะแต่ละอุตสาหกรรมและนักลงทุนมีความต้องการต่างกัน เพราะปัจจุบันการแข่งขันการชักจูงการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้เป็นการให้แรงจูงใจแบบเฉพาะเจาะจง (Customized) ในขณะที่ประเทศไทยยังเป็นแบบ One fit all ทำให้ไม่น่าสนใจเท่ากับการให้แบบเฉพาะราย
แม้ว่าวันนี้เราจะใช้กองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันที่จัดไว้หมื่นล้านบาทเป็นแต้มต่อ เพื่อสนับสนุนนักลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จนถึงวันนี้ยังไม่มีการใช้เงินทุนก้อนนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องปรับหลักการชักจูงการลงทุนใหม่ แต่ต้องมีกฎระเบียบที่ออกมาชัดเจนเพื่อให้คนทำงานสบายใจและปลอดภัยจากการฟ้องร้อง ไม่เช่นนั้นเราจะเสียโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นสาขาที่เราต้องการให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการปฏิรูประบบการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาวให้อยู่ในรูปแบบบูรณาการและมีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน เพราะ SME ส่วนมากกำลังปรับตัวสู่ธุรกิจที่รองรับวิถีธุรกิจแบบใหม่ หรือ New normal เช่น ให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยนโยบายและวางแผนการพัฒนา SME ในภาพรวม และกำหนดหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการสร้างสาธารณูปโภคด้านเทคนิคและวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในทุกระดับและพื้นที่ รวมทั้งเรื่องการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ยังค้างคาหลายฉบับ ทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อโอกาสการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งสิ้น เรียกว่า เราจะเอา หรือไม่เอา ก็ว่ากันมา ภาคเอกชนจะได้วางแผนทางหนีทีไล่ให้ชัดเจน
ทั้งหมดเป็นกรอบและทิศทางของนโยบายอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยควรจะเร่งดำเนินการในช่วงระหว่างปีใหม่นี้ ในช่วงที่ฝุ่นตลบอบอวลของวิกฤติโควิด-19 ก็พอได้ซาและเบาบางลงบ้างแล้ว เพราะหากรอนานไปกว่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยิ่งตามหลังประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายเด็ดเดี่ยวและมาแรง ทำให้แซงโค้งบ้านเราไปหลายเรื่องแล้ว ผมเชื่อว่าทั้งหมดที่ว่านั้นไม่มีอะไรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ จะเหลือก็แต่
ความกล้าหาญทางการเมืองและความจริงใจของผู้กำหนดนโยบายที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 142 ราย
ยอดติดเชื้อโควิด 21 ม.ค.64 รายใหม่ 142 ในประเทศ 125 หายป่วยเพิ่ม 221 ราย
เปิดไทม์ไลน์ "ดีเจมะตูม" ติดเชื้อโควิด-19 ใครไปโรงแรมดังย่านสาทรมีหนาว
“โควิด-19” ดัน ส.อ.ท. ผนึกพันธมิตรผุด "IPHA" รับรองอาหารปลอดภัย