คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล.ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(จบ)

04 ก.พ. 2564 | 11:35 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล.ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(จบ) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3650 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี. มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เสียงส่วนใหญ่ บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด กันเป็นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นมติของคณะกรรมการแข่งขันการค้าในภาพรวมทั้งหมดว่าทำไม และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไร จึงอนุมัติให้มีการซื้อกิจการและควบรวมกิจการในธุรกิจค้าปลีกของประเทศ หลังจากได้กำหนดในเงื่อนไขต่างๆ ไว้ 6 ข้อให้เอกชนต้องดำเนินการ อันประกอบด้วย...

1. ให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และ เทสโก้ สโตร์ส รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

2. ห้ามธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของผู้รวมธุรกิจและหน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ

3. ให้คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญา ข้อตกลงระหว่างคู่ค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้เดิมกับผู้ถูกรวมธุรกิจ คือ เทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี

4. ให้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ สโตร์ส ทุกรูปแบบ สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น  (OTOP) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี

5. ให้เซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ สโตร์ส ต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจภายใต้เงื่อนไข ประกอบการอนุญาตรวมธุรกิจ เป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการ การแข่งขันทางการค้ากำหนด ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

6.ให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจ และหน่วยธุรกิจเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน
 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายตามคำขออนุญาตรวมธุรกิจแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (15) ประกอบ มาตรา 51 วรรคสอง และมาตรา 52 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกรรมการเสียงข้างมาก จึงมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจปฏิบัติดังนี้ 

(1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะ เสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่ง สมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) 

(2) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และกลุ่มสินค้าอื่นๆ ของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และ เทสโก้ สโตร์ส รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี 

โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

(3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็น หน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้าน การตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า 

(4) ให้บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลง ระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิมที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ เป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิมด้วย 

(5) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30-45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงิน เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจำแนกเป็น 

5.1) กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และ 

5.2) กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน  

ทั้งนี้ กรณีข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิมที่มีผลใช้บังคับก่อนคณะกรรมการ การแข่งขันทางการค้าออกคำสั่งนี้ มีระยะเวลาการให้สินเชื่อน้อยกว่าที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด ให้ใช้ข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิม หรือกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการนั้น 
 

(6) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด รายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงาน คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี 

(7) ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือน เป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติ ทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจน ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่าง ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดและต้องไม่กระทำการที่เป็น ข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า  พ.ศ. 2560 

ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจดำเนินการตามกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น หลังจากที่การรวมธุรกิจแล้วเสร็จ และให้มีหนังสือรายงานผลการรวมธุรกิจภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จ

นี่คือคำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์ในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งของประเทศไทย ท่ามกลางข้อกังขาในเรื่องอำนาจเหนือตลาด และการผูกขาดในธุรกิจของประเทศไทย

หลังจากนี้ประชาชนคนไทยต้องติดตามกันว่า เมื่อมีการรวมกิจการขนาดใหญ่กันแล้ว ประชาชนคนไทยจะได้อานิสงส์อย่างไรกันบ้าง....ชวนติดตามอย่างยิ่งครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(9)

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(8)

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(7)

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (6)