“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

19 มี.ค. 2564 | 02:28 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2564 | 09:53 น.

วิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องมากแค่ไหนนั้น ฟังจากบทวิเคราะห์ของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

มูลค่าตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกมีมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (Euromonitor และหลายแหล่งข้อมูล, 2563) ประเทศที่มีมูลค่าตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สูงคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และยุโรป อย่างไรก็ตามขนาดตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ของไทย “ยังไม่มีการประเมินว่ามีมูลค่าเท่าไร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากโควิดในปี 2563

กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก.สาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้ผมและศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย “ประเมินมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในเมืองสมุนไพร 14 จังหวัด และจังหวัดเมืองท่องเที่ยว 12 จังหวัดของไทย” ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564  (“12 จังหวัดท่องเที่ยว”กำหนดตามกรมแพทย์แผนไทยฯ คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี ภูเก็ต บุรีรัมย์ พัทลุง สุโขทัย อุบลราชธานี พังงา และแม่ฮ่องสอน และ “14 จังหวัดสมุนไพร” กำหนดตามยุทธศาสตร์สมุนไพรคือ เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก อุทัยธานี นครปฐม สระบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ สงขลา จันทบุรี และอุดรธานี)

งานวิจัยดังกล่าวเสร็จเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรคือ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร OTOP เครื่องสำอางจากสมุนไพร และยาจากสมุนไพร ควบคู่ไปกับธุรกิจสุขภาพคือนวดแผนไทยและสปา ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและสปาเพื่อความงาม ธุรกิจรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เช่น โยคะ และศูนย์สุขภาพ รวมทั้งโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเพื่อสุขภาพ

“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

ผลการศึกษาพบว่า “โควิด ปี 2563” ทำรายได้รวมของธุรกิจบริการสุขภาพใน 14 จังหวัดสมุนไพรลดลงจาก 27,687 ล้านบาทเหลือ 12,008 ล้านบาท (จากปี 2562) ในขณะที่รายได้รวมของธุรกิจบริการสุขภาพใน 12 จังหวัดท่องเที่ยวลดลงจาก 195,224 ล้านบาทเหลือ 86,367 ล้านบาท นั้นแสดงว่าโควิดทำรายได้ธุรกิจบริการสุขภาพ “หายไปมากกว่า 50%”  

เมื่อพิจารณา“กลุ่มธุรกิจสุขภาพของ 12 จังหวัดท่องเที่ยว” พบว่า ธุรกิจบริการสุขภาพได้รับผลกระทบคือธุรกิจสปามีขนาดตลาดและได้รับผลกระทบสูงสุด ตามด้วยรีสอร์ท / โรงแรม  และนวดแผนไทย ส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มธุรกิจบริการพบว่า ร้านอาหารสุขภาพมีขนาดตลาดใหญ่และได้รับผลกระทบมากสุด ตามด้วย  สปาและนวดแผนไทย(เชียงใหม่ ภูเก็ตและพัทยาได้รับผลกระทบสูดสุด) ในขณะที่ “กลุ่มธุรกิจสุขภาพของ 14 จังหวัดสมุนไพร” รายได้จากกลุ่มธุรกิจบริการสปามีขนาดตลาดและได้รับผลกระทบสูงสุด ตามด้วยตามด้วยรีสอร์ท/โรงแรม  และฟิตเนส ส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพพบว่าร้าน OTOP สปา และรีสอร์ท/โรงแรมได้รับผลกระทบสูงสุด

“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

สำหรับ “9 ปัญหาธุรกิจบริการสุขภาพของไทย” ที่ทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยไปไม่ถึงไหน คือ 1.ยุทธศาสตร์สมุนไพรได้ผลเพียงร้อยละ 5-10 (ประเมินจากการจัดประชุมระดมความคิดเห็น) รวมทั้งขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 2.ประชาชนขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสมุนไพรในการรักษาโรค และสับสนในการนำสมุนไพรไปใช้ 3.การเข้าถึงงานวิจัยของผู้ประกอบการมีน้อย รวมทั้งไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ 4.ผู้ประกอบการขาดองค์ความรู้ในการออกแบบแพคเกตจิ้งที่ทันสมัย

5.ไม่มีนวัตกรรมที่ทันสมัยในการผลิตสารสกัดสมุนไพรทำให้ต้องนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ 6.การเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการในการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีน้อย 7.ขาดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการ และรสนิยมของผู้บริโภคได้ 8.ระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการขอการรับรอง มาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เวลานาน 9.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเรื่องของประโยชน์ การนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาใช้มีน้อย และไม่ต่อเนื่อง

“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

และมีข้อเสนอแนะ “8 สร้าง” ดังนี้ 1.สร้างการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมีการใช้รักษาด้วยยาสมุนไพร และยาแผนปัจจุบันควบคู่กัน รวมทั้งสนับสนุนให้แพทย์ในโรงพยาบาลได้เรียนรู้ถึงการใช้สมุนไพร และยาแผนปัจจุบันในการรักษาผู้ป่วย 2.สร้างเปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและการทำตลาดสมัยใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านในการสร้างอาชีพ รวมทั้งสนับสนุนให้มีบทเรียนวิชาสมุนไพรไทยในภาคบังคับเพื่อเป็นการปลูกฝังความรู้ด้านสมุนไพรไทยกับเยาวชน 3.สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบสารปนเปื้อน และรับรองมาตรฐานในระดับอำเภอเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวควรเป็นหน่วยงานที่ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“โควิด” ทุบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เดี้ยงหนัก”

4.สร้างนโยบายด้านการใช้สมุนไพรที่ชัดเจนให้กับโรงพยาบาล บุคลากรควรมีทัศนคติเชิงบวกเอื้อต่อนโยบายการใช้ยาสมุนไพร ควรจัดให้มีรายการยาสมุนไพรและการผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลมากขึ้น และเพิ่มบทบาทแก่แพทย์แผนไทยในการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาด้วยยาสมุนไพร 5.สร้างการอบรมกับบุคลากรในหน่วยงานของภาครัฐ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

6.สร้างการทำวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยที่มีผลงานน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับเผยแพร่ต่อประชาชน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อไป 7.สร้างห้ประชาชนให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดด้านการบริการเชิงสุขภาพที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนบางส่วน หรือนำไปเป็นส่วนลดภาษี หรือการรักษาโดยแพทย์ทางเลือกด้านสมุนไพร หรือการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถนำมาเป็นส่วนลดด้านภาษีได้ เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น 8.สร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานสำหรับทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม และผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยเฉพาะ และจัดตั้งเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวูบ 1.2 แสนล้าน สปาหนักสุด ปิดตัวถาวรแล้ว 40%

กทม.ลุยปรับปรุงทางเท้า เยาวราช - คลองโอ่งอ่าง รอรับท่องเที่ยวฟื้น

สงกรานต์บุรีรัมย์ 2564 จัดเต็มหวังฟื้นวิกฤตท่องเที่ยว

จัดโรดโชว์ปลุกท่องเที่ยว 3 เกาะ "สมุย-พะงัน-เต่า"

กลุ่ม วีไอพี มั่นใจ ‘ภูเก็ต’บูม หลังนักท่องเที่ยวคืนเกาะ คอนโดฯลงทุนคึกคัก