เป็นคำถามที่น่าสนใจจากแฟนคลับ ถามมาว่า “อาจารย์คิดว่า ถ้าหากประเทศเมียนมายุติการประท้วงและการปราบปรามแล้ว ทางรัฐบาลใหม่ที่ประกอบไปด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่ จะมีการปฎิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร?” เรื่องนี้อันที่จริงถ้าผมรู้ก่อนล่วงหน้า ผมคงรวยเละละครับ คำตอบที่กำลังจะตอบให้อ่าน ก็อย่าได้ยึดเป็นสาระนะครับ อ่านเอามันส์และคิดเสียว่าผมเดาเอาก็แล้วกัน จะได้ไม่ซีเรียสไงละครับ
หลังจากการประชุมกลุ่มผู้นำอาเชี่ยนเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย จบสิ้นลง หลายฝ่ายก็เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของฝ่าย SAC และฝ่าย CDM ของประเทศเมียนมา ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่อย่างไร? ผมเชื่อว่าทางฝากฝั่งประเทศตะวันตกก็คงจะมีการรอดูท่าทีเหล่านี้เช่นเดียวกัน ในช่วงแรกๆต่างก็เชื่อว่าฝากฝั่งฝรั่งมังค่าเขาก็เตรียมเงื้อง่าราคาแพงอยู่ เพราะหากทางฝั่ง SAC ไม่ปฎบัติตามคำสัญญา หรือหากกระทำการใดๆที่รุนแรงมากๆ เขาคงจะต้องลงมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน แต่ก็โชคดีที่ทางประเทศเมียนมาเขาก็สงบลงไปเยอะ หรือพอจะพูดได้ว่าเงียบลงไปแล้ว จนกระทั้งชาวบ้านชาวช่องเขาออกมาทำมาหากินกันได้บ้างแล้ว จึงพอจะอนุมาณได้ว่า น่าจะดีขึ้นเยอะแล้วละ ฝั่งฝรั่งตาน้ำข้าวเลยเงื้อเก้อไปเลยครับงานนี้
ถ้าหากทุกอย่างสงบลง ก็เสมือนฟ้าเริ่มเปิดแล้วครับ ต่อจากนี้ทิศทางของประเทศเมียนมาจะไปในทิศทางไหนดีละคราวนี้ ถ้าผมคิดเองนะครับ เราต้องมองไปที่หลายๆมิติ เช่นด้านการเมือง ด้านการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการพัฒนาประเทศ ฯลฯ เรามาดูในด้านแรกก่อนนะครับ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของตัวผู้วิจารณ์เอง และความเข้าใจอันดีงามระหว่างประเทศ ที่ผมไม่อยากจะวิจารณ์หรือวิเคราะห์เท่าไหร่ แต่เพื่อความสมบูรณ์ของบทความ เราแตะนิดๆก็พอนะครับ
ผมเชื่อว่าด้านการเมืองต่อแต่นี้ไป คงต้องใช้เวลาอีกนานหน่อยน ในการที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบครับ เพราะขนาดในช่วงที่ผ่านมาที่ประเทศเมียนมาบริหารโดยพรรค NLD หรือก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ ก็ยังเป็นประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวใบเท่านั้นเลยครับ ดูได้จากรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาครับ เอาแค่นี้พอนะครับ ส่วนด้านการปกครองนั้น ผมก็เชื่อว่าคงจะปกครองด้วยระบอบนี้อีกนานครับ เพราะอย่างไรเสีย ทหารที่ประเทศเมียนมาเขาไม่ทำให้เสียของเหมือนประเทศไหนก็ไม่รู้ ปฎิวัติแต่ละครั้งมักจะเสียของเสมอ ที่ประเทศเมียนมาเขาทำการเปลี่ยนแปลงมากี่ครั้งๆ ก็มักจะไม่มีการเสียของเลยครับ
ทางด้านเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าคงจะใช้เวลานานเช่นกันครับ เพราะที่ผ่านมาการประท้วงค่อนข้างจะรุนแรงมาก หลังจากที่เจอสภาวะโควิด-19 เข้าไปสอง-สามระลอก ทำให้แทบจะโงหัวขึ้นยาก เพราะผมเคยพูดตลอดว่า ถ้าโรคระบาด COVID-19 ระบาดหนึ่งปีจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว เวลานี้ทางประเทศเมียนมาเจอเข้าไปหลายดอก น่าจะต้องใช้เวลานานพอควรเลยละครับ ส่วนปัจจุบันนี้แม้จะเริ่มมีการดำเนินธุรกิจค่อนข้างจะเข้าที่เข้าทางบ้างแล้ว การค้าขายในประเทศเมียนมา ตอนนี้สามารถเริ่มได้บ้างแล้ว แค่ติดที่การเดินทางยังไม่ค่อยสะดวกเหมือนช่วงปกติ เพราะยังมีบางส่วนยังต้องระมัดระวังบ้าง อีกทั้งยังมีการปั่นป่วนแบบงานใต้ดินกัน เห็นได้จากมีการป่วนกันในช่วงเวลากลางคืนหลงเหลืออยู่ แต่ลึกๆผมก็คิดว่า สักวันหนึ่งคนที่ป่วนอยู่จะหันมาเห็นความอยู่รอดของประเทศนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดนะครับ
ด้านตลาดของการค้า-การขาย เมื่อมีการเปิดตลาด ความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่ถูกอั้นมานาน ก็เริ่มสำเดงเดชละครับ ที่บริษัทของผมพอเริ่มออกไปขายของ คำสั่งซื้อจากลูกค้าก็เริ่มเข้ามา แต่สินค้าในสต๊อกที่ลดลงไปเยอะ ทำให้การขายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร อีกทั้งทางการเมียนมาได้มีมาตรการสั่งห้ามนำเข้าสินค้า 5 ชนิดผ่านทางด่านชายแดน ให้นำเข้าทางเรือเท่านั้น บริษัทผมโดนเข้าเต็มๆเลยครับ เพราะสินค้าที่เป็นพระเอกของบริษัทผม ก็อยู่หนึ่งในห้าประเภทนั้นพอดี เลยหลีกไม่พ้นที่จะถูกกระทบไปครับ ในช่วงแรกที่ถูกประกาศห้ามนำเข้าทางชายแดน ผมก็เชื่อว่าอีกไม่นาน อาจจะมีการประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆอีกแน่ ซึ่งต่อมาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีการประกาศให้รถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าทางชายแดนเช่นกัน ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปนะครับ ว่าจะมีเพิ่มอีกหรือไม่?
ส่วนการเปิดทำงานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มมีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แม้แรงงานที่หลีกหนีภัยกันกลับบ้านนอกเกือบหมด ตอนนี้ก็ทะยอยกันกลับมาเมืองย่างกุ้งกันบ้างแล้ว โรงงานไหนที่ปิดงานไปช่วงที่ผ่านมา พอเปิดงานปุ๊บ รับสมัครงานใหม่ปั๊บ ใช้เวลาเพียงไมกี่ชั่งโมง คนงานก็แห่กันมาสมัครงานกันเต็มเลยครับ ดังนั้นใครมาก่อนได้ก่อน เพราะทุกคนต่างก็ต้องการทำงาน ที่ผ่านมาไม่ได้ทำงาน ก็ไม่มีรายได้เข้ากระเป๋ากัน พอมีงานให้ทำก็ต่างรีบเร่งกันเลย เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ การดำเนินการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศเมียนมา คงต้องกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบอย่างแน่นอนครับ ตัวแปรจะอยู่ที่การแซงชั่นของชาติตะวันตกละครับ
ยังมีปัจจัยอีกหลายๆด้าน ที่จะต้องมาดูกันต่อในอาทิตย์หน้านะครับ เพราะอาทิตย์นี้หน้ากระดาษหมดแล้วครับ โปรดติดตามตอนต่อไปในอาทิตย์หน้านะครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง