หยุดระบาด “รอบ 3” ยกระดับคุม “กรุงเทพฯ”

20 พ.ค. 2564 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2564 | 11:45 น.

หยุดระบาด “รอบ 3” ยกระดับคุม “กรุงเทพฯ” : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3680 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค.2564

 

การระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 หรือรอบ เม.ย. กำลังท้าทายรัฐบาลและระบบสาธารณสุขไทยอย่างหนักหน่วง ว่าจะสามารถ“คุม”สถานการณ์ได้หรือไม่ ขณะที่การระบาดรอบนี้ที่เร็วและแรง ทยอยทำสถิติใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของไทย ที่ทะลุ 1 แสนรายไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ยอดติดเชื้อรายใหม่วันเดียวพุ่งไปที่ 9,635 คนเมื่อต้นสัปดาห์นี้ หรือผู้เสียชีวิตจากโควิดรายวันทำสถิติใหม่ที่ 35 คนเมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา

ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ที่เฉียดหมื่นคนดังกล่าว มีถึง 6,853 รายจากคลัสเตอร์เรือนจำ และเป็นตัวเลขสะสมจากการคัดกรองเชิงรุกหลายวัน ถึงกระนั้นจำนวนที่เหลือคือ 2,782 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จากพื้นที่เปิดทั่วไปนั้น เป็นตัวเลขที่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาตลอด โดยระยะหลังรวมศูนย์อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง

สอดคล้องกับที่ศบค.ประกาศปรับโซนสีใหม่เหลือ 3 ระดับ โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) ลดเหลือ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี จากเดิมที่มีเกือบครึ่งประเทศ และคลายล็อกลง โดยในเขตสีแดงเข้มให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ถึง 3 ทุ่ม ในอัตรา 25 % ของพื้นที่ และให้ซื้อกลับได้ถึง 5 ทุ่ม

กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง ถือเป็นศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่เวลานี้ โดยการระบาดอย่างเป็นกลุ่มก้อนในกรุงเทพฯเวลานี้มีถึง 28 คลัสเตอร์ กระจายใน 17 เขต โดยคลัสเตอร์ที่มีอัตราการแพร่เชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ แฟลตดินแดง ตลาดห้วยขวาง คลองถมเซ็นเตอร์และวงเวียน 22 กรกฎา และแคมป์คนงานก่อสร้างเขตวัฒนา จากที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน และชุมชนที่อยู่กันแออัด ซึ่งคนหลีกเลี่ยงยากและติดเชื้อกันในอัตราสูง

ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเขตระบาดระยะขยายตัว แต่ผลจากการปรับผังสีได้คลายมาตรการควบคุมลงดังกล่าว จึงน่าเป็นห่วงว่าจะยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นไปอีกหรือไม่ทั้งที่ปรากฏชัดแล้วว่าการระบาดเชื้อโควิด-19 รอบนี้ เป็นสายพันธุ์ที่เร็วและแรง จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ปานกลางถึงหนัก ที่ต้องใช้เตียงและอุปกรณ์พิเศษทางการแพทย์เพิ่มจำนวนขึ้นจนแทบปริ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขที่เร่งขยายรับจนสุดกำลังแล้ว

รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจยกระดับมาตรการเพิ่มความเข้มข้น เพื่อคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 รอบเม.ย.ให้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง ที่เป็นรังของโรคเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการตีวงกำหนดเขตเสี่ยงทั้งในระดับครัวเรือนหรือชุมชน ระดมตรวจคัดกรองตัดวงจรโรค ปูพรมฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง หรือกระทั่งล็อกดาวน์พื้นที่ การเยียวยาหรือชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ โดยต้องเป็นชุดมาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ มีกลไกรองรับการปฏิบัติ ตลอดจนปรับแผนระดมฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จำเป็นเร่งด่วน

เพราะหากยังระบาดเรื้อรัง เศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินเครื่องได้