สร้างป้ายใหญ่เกินที่ได้รับอนุญาต ตาวิเศษเห็นนะ!

29 พ.ค. 2564 | 22:20 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2564 | 12:46 น.

สร้างป้ายใหญ่เกินที่ได้รับอนุญาต ตาวิเศษเห็นนะ! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,683 หน้า 5 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2564

ทุกวันนี้ ... ไม่ว่าไปไหนมาไหนก็จะเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่อยู่สองข้างทาง 

เพราะป้ายโฆษณาถือเป็นสื่อประเภทหนึ่ง ที่สามารถให้ข้อมูลและประชา สัมพันธ์สินค้านั้นๆ ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งป้ายที่มีขนาดใหญ่ย่อมดึงดูดให้ผู้พบเห็นสะดุดตาสะดุดใจในตัวสินค้ามากกว่าป้ายที่มีขนาดเล็ก

แต่การจะทำป้ายโฆษณาสักอันนั้น ใช่ว่าจะทำอย่างไร... ขนาดไหนก็ได้ หากแต่ต้องขออนุญาตและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน การป้องกันอัคคีภัย การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงความสะดวกแก่การจราจร

อุทาหรณ์คดีปกครองที่จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างป้ายโฆษณา โดยผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้กับป้ายโฆษณา ซึ่งมีการก่อสร้างขนาดใหญ่ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง รวมถึงผู้สัญจรไปมาหากเกิดพายุหรือลมกระโชกแรง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้นายกเทศมนตรีดำเนินการให้มีการรื้อถอนป้ายที่พิพาทโดยเร็ว 

สำหรับเจ้าของป้ายที่พิพาทก็คือ นายไก่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ซึ่งได้ขออนุญาตก่อสร้างป้ายโฆษณาชนิดป้ายโครงเหล็ก ขนาดกว้าง 7.625 เมตร ยาว 28 เมตร สูง 16.625 เมตร โดยป้ายดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากที่พักของผู้ฟ้องคดีไม่เกิน 5 เมตร บริเวณปากซอย ล. โดยหันด้านหน้าขนานไปกับแนวซอย ล. ซึ่งเป็นซอยแยกจากถนนทหาร ด้านข้างของป้ายเป็นถนนทหาร มีระยะถอยร่นจากเขตถนนทหาร 2 เมตร สำหรับถนนทหารมีความกว้าง 30 เมตร ป้ายโฆษณาจึงมีระยะห่างจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงจุดกึ่งกลางถนนทหาร ซึ่งนายกเทศมนตรีเห็นว่าเป็นถนนสาธารณะที่ใกล้ป้ายนั้นที่สุด 17 เมตร อันถือว่ามีระยะถอยร่นของแนวอาคารและความสูงของป้ายโฆษณาเป็นไปตามข้อ 13 และข้อ 41 (3) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 แล้ว จึงอนุญาตให้นายไก่ก่อสร้างป้ายโฆษณาดังกล่าวได้ 

คดีมีประเด็นพิจารณาว่า การออกใบอนุญาตก่อสร้างป้ายโฆษณาที่พิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ละเลยต่อหน้าที่ในการไม่สั่งให้เจ้าของป้ายทำการรื้อถอนป้ายโฆษณาหรือไม่ ?

กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ถนนสาธารณะ หมายความว่า ถนนที่เปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือไม่ ข้อ 13 กำหนดว่า ป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรง ต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้นที่สุด และมีความยาวของป้ายไม่เกิน 32 เมตร  

 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ซอย ล. ซึ่งมีสภาพเป็นซอยเชื่อมต่อจากถนนทหารซึ่งเปิด หรือยินยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรเพื่อออกสู่ถนนทหาร ซอย ล. จึงมีลักษณะเป็นถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายพิพาทที่สุด (มิใช่ถนนทหาร) ดังนั้น ความสูงของป้ายโฆษณาจึงไม่ควรเกิน 12.75 เมตร ตามข้อ 13 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) การที่ป้ายโฆษณาสูงถึง 16.625 เมตร จึงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การที่นายกเทศมนตรีใช้ดุลพินิจออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างป้ายโฆษณา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อ 13 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว 

 

สร้างป้ายใหญ่เกินที่ได้รับอนุญาต ตาวิเศษเห็นนะ!

 

แม้จะได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า ใบอนุญาตให้ก่อสร้างป้ายโฆษณาที่พิพาท เฉพาะส่วนที่สูงเกินกว่าระยะที่วัดจากจุดที่ติดตั้งป้ายไปจนถึงกึ่งกลางซอย ล. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โดยที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง หลังจากที่เจ้าของป้ายได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างป้ายโฆษณาเพียง 4 วัน แม้นายกเทศมนตรีจะมีหน้าที่ต้องตรวจสอบการก่อสร้างป้ายพิพาท แต่ก็ยังไม่อาจถือได้ว่านายกเทศมนตรีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ประกอบกับภายหลังการฟ้องคดี ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกเทศมนตรีได้ตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างป้ายดังกล่าวผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต โดยก่อสร้างจริงมีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 26 เมตร จึงได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ห้ามใช้ และให้แก้ไขป้ายโฆษณาให้มีขนาดตามที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ เมื่อต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว นายกเทศมนตรีก็ดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยให้เจ้าของรื้อถอนป้ายบางส่วน เพื่อให้มีขนาดถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด อันถือว่านายกเทศมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 40 มาตรา 41 หรือมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อส. 8/2563)

 

จากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวสรุปได้ว่า

1. การก่อสร้างป้ายโฆษณา เจ้าของป้ายจะต้องขออนุญาตและปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต เพราะหากดำเนินการไม่ถูกต้อง ย่อมต้องถูกตรวจสอบและถูกสั่งให้แก้ไขหรือรื้อถอน เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม

2. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่พิจารณาออกใบอนุญาต จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยพิจารณาออกใบอนุญาตให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบการก่อสร้าง หากพบว่าไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

3. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณา หากพบว่ามีการก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องก็สามารถแจ้งหน่วยงานผู้มีหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากเห็นว่าผู้มีหน้าที่ละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ 

อย่างไรก็ตาม การฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ภายหลังจากได้อนุญาตให้ก่อสร้างป้ายเพียง 4 วัน อาจถือว่าเร็วเกินไป