1 ปี 4 เดือนโควิด ทุบเศรษฐกิจวูบ 11 ล้านล้าน แรงงานหายจากระบบ 1.3 ล้านคน

23 ก.ค. 2564 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 12:57 น.

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงขึ้น ประชาชนมีความเครียดและกังวลมากขึ้น รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในแง่การบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าเกินไป

1 ปี 4 เดือนโควิด ทุบเศรษฐกิจวูบ 11 ล้านล้าน แรงงานหายจากระบบ 1.3 ล้านคน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิดครั้งนี้กำลังสะท้อนความรุนแรงด้านแรงงานและทางเศรษฐกิจอย่างไร นายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทวี-เซิร์ฟ และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ฉายให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

 

เศรษฐกิจเสียหาย 11 ล้านล้าน

นายธนิต กล่าวว่า  ตลาดแรงงานภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน (นับจากที่มีการระบาดของโควิดในเดือน ก.พ.63) ประมาณความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 11.038 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.3 ของ GDP (คิดจากฐานปี 2562 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของไทยมีมูลค่าประมาณ 17.745 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)

 

ทั้งนี้แม้ภาคการส่งออกและนำเข้าของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน  แต่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศกลับทรุดตัว เนื่องจากมีผู้ว่างงานและว่างงานแฝงจำนวนมาก ประชาชนไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลงส่งผลให้กำลังซื้ออยู่สภาวะเปราะบางและอ่อนแอ ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาวะประคองตัว

 

ดับฝันผ่านจุดต่ำสุด

 อย่างไรก็ตามการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าในช่วงครึ่งปีหลังถือเป็นการระบาดระลอกที่ 4 มีความรุนแรงมากกว่าครั้งที่ผ่านมา จนช่วงกลางเดือนกรกฎาคม “ศบค.” ประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งมีสถานประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58-60 ของภาพรวม รวมกันประมาณ 7.69 แสนกิจการ

 

การระบาดระลอกใหม่จนถึงต้องล็อกดาวน์และมีเคอร์ฟิวเป็นการดับความหวังว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาธุรกิจและแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบประกันสังคม รวมถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำ และอื่น ๆ  ใช้เงินไม่น้อยกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีเพียงร้อยละ 0.2 อาจไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีนัย 

 

ธนิต  โสรัตน์

 

แรงงานวูบ 1.34 ล้านคน   

รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์เปรียบเทียบตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 11.077 ล้านคน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดมีจำนวน 11.540 ล้านคน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจทำให้แรงงานในระบบหายไปถึง 463,275 คน หรือลดลงถึงร้อยละ 4.01

 

ส่วนแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานของประเทศ พบว่าจากในเดือนพฤษภาคมปี 2562 แรงงานต่างด้าวทุกประเภทมีจำนวน 3.189 ล้านคน เทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2564 มีจำนวนลดลงเหลือ 2.307 ล้านคนหรือหายไปถึงร้อยละ 27.6 (หายไป 8.82 แสนคน) รวม 2 ส่วนหายไปกว่า 1.34 ล้านคน ต่ำสุดในรอบ 2 ปีแสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่หดตัวได้อย่างชัดเจน

 

ล็อกดาวน์พื้นที่ไข่แดงทุบ ศก.

สำหรับการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนกรกฎาคมจะส่งผลกระทบตามมาอย่างไรนั้น จากการวิเคราะห์เทียบเคียงกับล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2563 พบว่าช่วง 3 เดือนแรก (มี.ค.-มิ.ย.) ทำให้แรงงานในระบบลดลงถึง 434,837 คนหรือหายไปร้อยละ 3.7 ตัวเลขนี้อาจอนุมานให้เห็นภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจากการล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 (ก.ค.64) ได้ในระดับหนึ่ง จะมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับมาตรการเยียวยาของรัฐบาล

 

แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือธุรกิจส่วนใหญ่ (ยกเว้นเซ็กเตอร์ส่งออก) มีความบอบช้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจรวมถึงการไม่เดินทางและการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวในปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 72.6 และปีนี้คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 29 (y/y) ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรายได้และความเป็นอยู่ในอนาคต ถึงแม้ว่าการล็อกดาวน์จะจำกัดอยู่ใน 10-13 จังหวัดสีแดงเข้ม แต่จังหวัดเหล่านี้มีสัดส่วน ต่อจีดีพีและการจ้างงานของประเทศรวมกันประมาณร้อยละ 60-70

1 ปี 4 เดือนโควิด ทุบเศรษฐกิจวูบ 11 ล้านล้าน แรงงานหายจากระบบ 1.3 ล้านคน

 

อนาคตแขวนบนวัคซีน

 ประเด็นที่ต้องนำมาประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานในอนาคตจะกระทบมากขึ้นจากโควิด หรือไม่ อย่างไรนั้น ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับไทยจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้เมื่อใด ซึ่งรัฐบาลประกาศดีเดย์จะเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจัยการเปิดประเทศเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (50 ล้านคน 100 ล้านโดส)

 

ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.ไทยฉีดวัคซีนได้ 14.5 ล้านโดส(สัดส่วน 14.55% ของประชากร ต้องฉีดอีก 85.4 ล้านโดส หรือ 85.45%) ยังห่างไกลจากเป้าหมายอีกมาก ทำให้มีความกังขาเกี่ยวกับการเปิดประเทศว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงความกังขาในการควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมา 

 

“ปัจจุบันภาคเอกชนทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก ย่อย ส่วนใหญ่ทำงานไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากผู้คนจับจ่ายใช้สอยลดลงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 3.23 ล้านรายอยู่ในโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท สภาพคล่องธุรกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข มิฉะนั้นเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้ยาก” นายธนิต กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564