"1 ทศวรรษ" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

24 ก.ค. 2564 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 13:28 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทวิเคราะห์ “1 ทศวรรษ” สินค้าเกษตรไทย : กำลัง “ติดหล่ม” ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ศักยภาพไทยเทียบกับคู่แข่งขันเป็นอย่างไร ติดตามได้ดังรายละเอียด

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

 

ผมได้ทำการประเมินศักยภาพของสินค้าเกษตรไทยใน “1 ทศวรรษ” ว่าที่ผ่านมาศักยภาพเป็นอย่างไร และกำลังติดกับดักหรือติดหล่มอะไร โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ปลูก พื้นที่ให้ผลผลิต ผลผลิต ผลผลิตต่อไร ราคาและจำนวนครัวเรือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง การวิเคราะห์ได้ทำการประเมินใน 8 สินค้าเกษตรที่สำคัญคือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ทุเรียน เงาะ มังคุค และลำไย ประเด็นศักยภาพการแข่งขัน วัดว่า ศักยภาพสินค้าเกษตรเป็นอย่างไร “ต้องเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งผลผลิตต่อไรและต้นทุนการผลิต”

 

ผมขอเริ่มจากข้าว ในสินค้าเกษตรทั้ง 8 ตัว “ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่มีอัตราการขยายตัวและทิศทางการเปลี่ยนแปลง “ลดลงทุกตัว ยกเว้นจำนวนครัวเรือนชาวนาที่เพิ่มขึ้น” พื้นที่ปลูกข้าวเปลือก พื้นที่ให้ผลผลิต ผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ และราคา ข้อสังเกตก็คือช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2563) ครัวเรือนชาวนาข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านครัวเรือนเป็น 4.5 ล้านครัวเรือน (สัดส่วน 50% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ) ยกเว้นครัวเรือนเกษตรกรข้าวนาปรังที่ลดลง ที่น่าห่วงก็คือ ศักยภาพการผลิตข้าวไทยเมื่อวัดจากผลผลิตต่อไร่ยังไม่ถึง 500 กิโลกรัม (กก.)ต่อไร่ (อยู่ในระดับนี้มานานแสนนาน)

 

ในขณะที่เวียดนามซึ่งเป็น “คู่แข่งสำคัญข้าวไทย” ผลผลิตต่อไร่ข้าวทั่วไปเพิ่มจาก 2.9 ตัน/เฮกตาร์ (464 กก.ต่อไร่) ในปี 1990 เป็น 5.6 ตัน/เฮกตาร (896 กก.ต่อไร่) ในปี 2012 และในปี  2020 เพิ่มเป็น 5.8 ตัน/เฮกตาร์ (USDA, September 2020) หรือ 928 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ข้าวไฮบริดของเวียดนามทำได้เกิน 1 ตันต่อไร่ เวียดนามเริ่มทำวิจัยข้าวไฮบริดตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา โดยผลผลิตต่อไร่ที่ Vinaseed อ้างถึงนั้นทำได้คือ  7-7.5 ตันต่อเฮกตาร์ หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่

 

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

 

หลังจากนั้นในปี 1991 เวียดนามก็มีการกระจายพันธุ์ข้าวไฮบริดออกมาปลูกกันทั่วประเทศ ในขณะที่ข้าวไฮบริดจีนได้ผลผลิต 22.5 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ เกือบ 4 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงที่สุดในโลกขณะนี้ คนคิดพัฒนาก็คือนักเกษตรกรรมชาวจีนที่ชื่อ Yuan Longping ที่ทั่วโลกตั้งให้เป็น “บิดาข้าวไฮบริด” (เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 22 พ.ค 2564 อายุ 91 ปี)  นี้ยังไม่รวมถึงต้นทุนการผลิตข้าวไทยกับเวียดนามที่ไทยสูงกว่าเวียดนามเท่าตัว

 

สำหรับ “ยางพารา” มีพื้นที่ให้ผลผลิตและผลผลิตเพิ่มขึ้น และ “มากที่สุดในโลก” ปี 2563 ในบรรดายางของประเทศผู้ผลิตทั่วโลกพบว่า “ยางแผ่นรมควัน” ไทยผลิต 63% เวียดนาม 10% อินโดฯ 8.5% “ยางแท่ง” อินโดฯ ผลิต 38% ไทยผลิต 28% มาเลเซีย 9% และเวียดนาม 8% “น้ำยางข้น” ไทยผลิต 76% และเวียดนาม 6% ในขณะที่ “ยางคอมปาวด์” ไทยผลิตน้อยเพียง 5% โดยมีเยอรมันและสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตใหญ่ของโลก

 

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

 

ส่วนผลผลิตต่อไร่และราคาที่เกษตรกรสวนยางขายได้ลดลง ส่วนครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น สำหรับศักยภาพการผลิต ต้องเทียบกับเวียดนาม โดยไทยต่ำกว่าเวียดนามที่ผลิตได้ 300 กก.ต่อไร่ และต่ำกว่ามาเลเซีย (240 กก.ต่อไร่) โดยผลผลิตต่อไร่ของไทย (233 กก.ต่อไร่) ลดลงตั้งแต่ปี 2546 ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วน “ปาล์มน้ำมัน” นั้น พื้นที่ให้ผลผลิต ผลผลิตและจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตต่อไร่และราคา มีอัตราการขยายตัวลดลง สำหรับศักยภาพการผลิตของปาล์มน้ำมันต้องเทียบกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียมีผลิตที่ 3.1 ตันต่อไร่ ซึ่ง “ผลผลิตต่อไร่มาเลเซียสูงกว่า แต่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่า”

 

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

 

หันมาดู “มันสำปะหลัง” กันบ้าง แอฟริกาปลูกร้อยละ 56  เอเชียร้อยละ 33 (ร้อยละ 95 ปลูกในประเทศอาเซียน และอาเซียนคิดเป็น 25% ของผลผลิตโลก) และอเมริกาใต้ร้อยละ 11   ไนจีเรียผลิตมากสุด ตามด้วยไทย อินโดนีเซีย และบราซิลตามลำดับ  

 

ตัวเลขมันสำปะหลังของไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวพื้นที่ปลูกและผลผลิต ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ลดลงและเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนแล้วพบว่าไทยต่ำกว่าอินโดนีเซียและ สปป.ลาว โดยอินโดฯ ผลิตได้ 3.6  ตันต่อไร่ ลาวผลิต 5.2 ตันต่อไร่

 

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

 

ขณะที่ศักยภาพผลไม้ของไทย “ทุเรียน” มีภาพรวมการผลิตที่แตกต่างจากข้าวโดยสิ้นเชิงเพราะ ทุเรียนขยายตัวในทุก ๆ ด้าน ทั้งพื้นที่ปลูก ผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ราคาและจำนวนครัวเรือน นอกจากนี้ผลไม้อื่น ๆ เช่น มังคุค เงาะ มีพื้นที่ให้ผลผลิตและจำนวนครัวเรือนลดลง  ยกเว้นลำไยที่มีตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้น

\"1 ทศวรรษ\" สินค้าเกษตรไทย ติด 8 กับดัก ฉุดศักยภาพแข่งขันวูบ

สรุปจากตัวเลขข้างต้นเทียบกันระหว่างพืชหลักกับผลไม้ เห็นชัดว่าข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันมันสำปะหลังการผลิตโดยรวม “ถดถอย” ในขณะที่ผลไม้มีทิศทางการผลิต “เพิ่มขึ้น” คำถามที่สำคัญคือ “พืชหลักจะสู้อย่างไร”

 

ผมคิดว่าเราจะออกจาก “8 หล่มหรือติดกับดัก” ให้ได้เพราะว่าไทย 1."ติดหล่มศักยภาพการแข่งขัน” หลัก ๆ คือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้นทุนที่สูงขึ้น หลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ประเด็นนี้ได้เลย 2.“ติดหล่มการแทรกแซงตลาด” เราช่วยเกษตรกรได้ แต่ต้องหันมาสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้นด้วย

 

3."ติดหล่มการซื้อขาย" เกษตรกรไม่สามารถกำหนดอำนาจการต่อรองราคาในฐานะผู้ผลิตได้ 4."ติดหล่มงานการวิจัยและงบวิจัย" การวิจัยมีไม่มากพอ โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงพาณิชย์และงบประมาณก็น้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน 5.“ติดหล่มการแปรรูปบนฐานนวัตกรรม” เน้นแต่ขายวัตถุดิบมากกว่าที่จะแปรรูป 6."ติดหล่มการตลาด" เกษตรกรไม่รู้จะขายตลาดไหน และขาดช่องทางการจำหน่าย 7.“ติดหล่มไม่รู้คู่แข่ง” ว่ามีศักยภาพอย่างไร และคู่แข่งพัฒนามากแค่ไหน และ  8.“ติดหล่มเกษตร 4.0” ขาดการประเมินสถานะเกษตรไทยว่าอยู่ในระดับใดของการพัฒนา ทำให้การก้าวไปสู่ยุค 4.0 จึงยากตามไปด้วย