ประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับการแข่งขันธุรกิจที่เป็นธรรม เห็นได้จากการมีกฎหมายการแข่งขัน (Competition Law) อยู่ในทุกประเทศ หากไล่เรียงตามปีของการมีกฎหมายนี้ของอาเซียนพบว่า “อินโดนีเซีย” ถือว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 1999 หลังจากนั้นปี 2004 เวียดนามก็ออกกฎหมายมา ตามด้วยปี 2006 ในสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซียมีปี 2010
ขณะที่ปี 2015 มี 4 ประเทศอาเซียนพร้อม ๆ กันคือ บรูไน สปป.ลาว ฟิลิปฟินส์ และเมียนมา และไทย มีการปรับปรุงและตราเป็นกฎหมายในปี 2017 (เอกสารอาเซียน “Comparative Table on Competition Law Frameworks in ASEAN”) ภายใต้การรวมตัวเป็นอาเซียนที่ต้องเปิดเสรีการค้าและการลงทุน กฎหมายการแข่งขันจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อทั้งธุรกิจ ผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตนเองและอาเซียนอย่างมาก ก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในการทำธุรกิจและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
ยกตัวอย่าง “กฎหมายแข่งขันมาเลเซีย” มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ “The Malaysia Competition Commission (MyCC)” ภายใต้ “Competition Commission Act 2010” “MyCC” เป็นองค์กรอิสระที่ปกป้องธุรกิจ(ทั้งในมาเลเซียและนอกมาเลเซีย) และผู้บริโภค กม.ฉบับนี้ให้ความสำคัญ 2 ประเด็น คือ “ข้อตกลงการต่อต้านการแข่งขัน (Anti- Competitive Agreement) มาตรา 4” เช่น บริษัทคลังสินค้า 7 บริษัทรวมตัวกัน เพื่อตั้งราคาการให้บริการที่ท่าเรือกลาง (Port Klang) ทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจที่รับบริการต้องจ่ายในราคาที่สูงเกินไป และ“การใช้ตำแหน่งที่โดดเด่นในทางที่ผิด (Abuse of Dominant of Position) มาตรา 10” เช่น การควบรวมกิจการของ Grab และ Uber ในมาเลเซีย ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด “e-hailing market” (ตลาดรถที่ให้บริการรับส่งผู้โดย สารโดยมีค่าบริการ ผ่านการจัด การจอง หรือทำธุรกรรมทางแอพพลิเคชั่นอิเล็กทรอนิกส์) ทำให้ Grab มีการกระจุกตัวสูง ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูง และเกิดอำนาจเหนือตลาด
“กฎหมายแข่งขันสิงคโปร์” อยู่ภายใต้ “Competition Commission of Singapore (CCS)” มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและภาคธุรกิจซึ่งห้ามมีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน 3 ประเภทคือ 1.ข้อตกลงการตัดสินใจ และปฏิบัติต่อต้านการแข่งขัน (มาตรา 34) 2. การละเมิดตำแหน่งที่โดดเด่น (มาตรา 47) และการควบรวมกิจการ (มาตรา 54) และพบว่าระหว่างปี 2006-2021 สิงคโปร์ได้มีการปรับเงินกับธุรกิจที่ฝ่าฝื่นมาตรา 34 มูลค่าระหว่าง 0.03 - 26.95 ล้านสิงคโปร์(ตามประเภทของธุรกิจ) เมื่อนำกฎหมายแข่งขันของไทย มาเลเซียและสิงคโปร์มาเปรียบเทียบกัน
ผมมี “ข้อสังเกต 4 ข้อ” ประเด็น 1.ผู้บริโภค มาเลเซียและสิงคโปร์จะรวมถึงการแข่งขันที่เป็นธรรมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคไว้ด้วยกันมีการระบุคำว่า “ผู้บริโภค” ไว้ชัดเจน
ในขณะที่กฎหมายแข่งขันทางการค้าในปี 2017 ของไทยนั้นมุ่งเน้นความเป็นธรรมในการแข่งขันธุรกิจเป็นหลัก 2.ส่วนแบ่งตลาด เพื่อวิเคราะห์ว่ามีการครอบงำ หรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ มาเลเซียกำหนดส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ไทยและอินโดนีเซียกำหนดที่ 50% (มาเลเซียอินโดนีเซียและไทยกำหนดส่วนแบ่งตลาดเดียวกันทั้งธุรกิจเดียวกันและต่างกัน) ในขณะที่สิงคโปร์กำหนดส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 20% ในธุรกิจเดียวกันและเกิน 25% ในธุรกิจที่แตกต่างกัน การกำหนดส่วนแบ่งตลาดบอกว่า “ยิ่งน้อย ยิ่งเข้ม” ในการควบคุม
3.ประเภทธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้กฏมาย มาเลเซียเน้นสินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ ส่วนสิงคโปร์เน้นธุรกิจบริการ ในขณะที่ไทยเน้นทั้งเกษตรอุตสาหกรรมและบริการ 4.การควบรวมกิจการ มาเลเซียและสิงคโปร์กับไทย พิจารณาการควบรวมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ไทยคำนึงถึงศักยภาพการออกไปแข่งขันในต่างประเทศ และราคาสินค้าอาจจะถูกลงในตลาดภายใต้
ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์จะพิจารณาตั้งแต่ต้นว่าหากรวมแล้วเกิดอำนาจเหนือตลาดก็ไม่อนุญาต หรืออนุญาตควบรวมได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ประเด็นที่ผมกล่าวถึง “กฎหมายการแข่งขันอาเซียน” ข้างต้นก็เพราะผมว่ากำลังทำงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยและพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของธุรกิจสินค้าเกษตรไทยภายใต้กฎหมายการแข่งขัน” โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก “มูลนิธิเอเซีย (The Asia Foundation) : TAF” การศึกษานี้เน้นสินค้าเกษตร 3 สินค้าคือ ข้าว ลำไย และทุเรียน วิธีการศึกษาคือเก็บข้อมูลภาคสนามแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและเก็บข้อมูลเชิงลึกในสินค้าเกษตรดังกล่าว
ทำการวิเคราะห์ว่าใน “ธุรกิจผลไม้ไทยมีการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือมีการผูกขาดหรือไม่” โดยยึดมาตรา 50 ของ กม.แข่งขันไทยเป็นเกณฑ์ ว่ามีปัจจัยและพฤติกรรมการตั้งราคาและเงื่อนไขที่มีโอกาสเกิดแข่งขันไม่เป็นธรรมหรือมี “อำนาจเหนือตลาด” เช่นการขายตํ่ากว่าต้นทุน กำหนดราคาซื้อและขายด้วยสินค้าเดียวกัน ด้วยราคาแตกต่างให้กับคู่ค้าต่างราย ในราคาที่แตกต่างกัน และกำหนดราคาซื้อและขายสินค้าชนิดเดียวกัน ด้วยราคา แตกต่างให้กับคู่ค้าต่างราย ในราคาที่เดียวกัน เป็นต้น
“กรณีทุเรียน” การศึกษาในเบื้องต้นพบว่า “ธุรกิจทุเรียนมีโอกาสที่จะเกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม” เช่นเกษตรกร “เคย” มีการตั้งราคาทุเรียนที่แตกต่างกันกับลูกค้า ได้สิทธิในการซื้อวัตถุดิบการผลิตในราคาที่ตํ่าจากเครือข่าย และได้กู้ยืมเงินจากธุรกิจเครือข่าย ในขณะที่พ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกมีการตั้งราคาขายที่ตํ่า และมีการตั้งราคาที่แตกต่างและราคาสูง ในขณะที่ลำไยก็มีผลการศึกษาใกล้เคียงกับกรณีทุเรียน ซึ่งจากผลการศึกษาในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่า “ธุรกิจทุเรียนและลำไยมีโอกาสที่จะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งต้องศึกษาลงรายละเอียดต่อไป
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3720 วันที่ 7-9 ตุลาคม 2564