ยอดขายตั๋วหนังจีนยืนหนึ่งพุ่งทะลุ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

21 พ.ย. 2564 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2564 | 14:38 น.

ยอดขายตั๋วหนังจีนยืนหนึ่งพุ่งทะลุ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมาเหยียน (Maoyan) แพล็ตฟอร์มติดตามยอดผู้ชมภาพยนตร์ของจีน ได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการณ์ยอดจำหน่ายตั๋วในปี 2021 ว่าอยู่ที่ 43,000 ล้านหยวน หรือราว 6,710 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

แม้ว่ายอดบ๊อกซ์ออฟฟิศรวมของจีนในปี 2021 จะเติบโตน้อยกว่าในช่วงวิกฤติโควิ-19 ในปี 2019 แต่ก็สามารถครองแชมป์ตลาดภาพยนตร์สูงที่สุดในโลก

 

ภาพยนตร์ที่ทำยอดรายได้สูงสุดในจีน ก็ได้แก่ “The Battle at Lake Changjin" จนถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำรายได้มากกว่า 5,620 ล้านหยวนไปแล้ว สูงสุดทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก

 

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทหารอาสาสมัครจีน (Chinese People's Volunteers) ที่เสี่ยงชีวิตและต่อต้านกองกำลังทหารสหรัฐฯ ที่เข้าไปรุกรานแผ่นดินแม่และช่วยเหลือเกาหลีอย่างกล้าหาญ ภายใต้สภาพการณ์ที่แร้นแค้น และอุณหภูมิที่เย็นยะเยือก จนได้ชื่อว่าเป็นแคมเปญ “ทะเลสาบฉางจิน”

 

ความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของกองกำลังอเมริกันที่เพียบพร้อมด้วยกำลังอาวุธที่ทันสมัย กับการขาดแคลนของอาวุธยุทโธปกรณ์ในอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่มีแม้กระทั่งอาหาร และเสื้อผ้าที่สร้างความอบอุ่น ของกองกำลังอาสาสมัครของจีน สามารถเรียกเสียงน้ำตาและปลุกขวัญกำลังใจในความรักแผ่นดินเกิดให้กับผู้ชมได้อย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น “การบอกต่อ” ไปยังญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงให้ไปชมหนังดีทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้

 

โดยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสาระเกี่ยวกับความรักชาติในสภาวการณ์ที่จีนในปัจจุบัน กำลังตกอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แถมหนังก็ยังถูกเปิดตัวในจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ คือ วันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาววันขาติจีน จึงเป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ดีเยี่ยมสำหรับรัฐบาลจีน ส่งผลให้ชาวจีนแห่แหนไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

                             ยอดขายตั๋วหนังจีนยืนหนึ่งพุ่งทะลุ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

"The Battle at Lake Changjin" ถูกกำหนดให้ออกฉายในสหรัฐฯ และแคนาดาในวันที่ 19 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่วันหลังการประชุมผ่านวิดีโอครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่าง สี จิ้นผิง และ โจ ไบเดน และจะเปิดตัวที่ออสเตรเลียในวันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า หนังเรื่องนี้จะทำสถิติรายได้บัตรผ่านประตูเหมือนที่จีนหรือไม่ หรือจะมีควันหลงอะไรตามมา

 

ภาพยนตร์ที่ทำรายได้อันดับที่ 2 และ 3 ของจีนในปี 2021 ก็ได้แก่ "Hi, Mom" หนังตลกเกี่ยวกับชีวิตของครอบครัวจีน (5,410 ล้านหยวน) และ "Detective Chinatown 3" (4,520 ล้านหยวน) ตามลำดับ ภาพยนตร์ทั้งสองเปิดตัวช่วงหยุดยาววันตรุษจีนที่ครอบครัวชาวจีนนิยมใช้เวลาพักผ่อนและท่องเที่ยวร่วมกัน

 

ส่วนภาพยนตรีต่างชาติที่เข้าไปโกยเงินหยวนติด 10 อันดับแรก ก็เป็นของค่ายฮอลลีวูด อันได้แก่ "F9: The Fast Saga" อันดับ 5 (1,390 ล้านหยวน) และ "Godzilla vs. Kong" อันดับ 8 (1.230 ล้านหยวน)

 

ทั้งนี้ ภาพยนต์ 8 ใน 10 เรื่อง ที่สามารถทำยอดขายมากที่สุดเป็นภาพยนต์ที่ผลิตในจีน ซึ่งในด้านหนึ่งอาจสะท้อนความสามารถในการผลิตหนังโรงของค่ายจีน และความจำเป็นในการพึ่งพาภาพยนตร์จากฮอลลีวูดในการเข้าไปสร้างสีสัน และรายได้

 

แต่หากพิจารณาเงื่อนไขการนำเข้าภาพยนต์ต่างชาติของจีนที่เข้มงวด ก็อาจทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมภาพยนตร์ต่างชาติจึงมีบทบาทน้อยในตลาดจีน

 

ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่หนังต่างชาติเข้าไปครองแชมป์ในจีน ก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2019 โดยมีหนังฟอร์มใหญ่จากค่ายมาร์เวล (Marvel) อย่าง "Avengers: Endgame” ที่กลุ่มวัยรุ่นจีนต่อคิวเข้าโรงหนังกันเป็นประวัติการณ์ แต่ปีนี้กลับไม่มีหนังจากค่ายนี้เข้าไปฉายในจีนแม้แต่เรื่องเดียว

 

จากผลการวิจัยของ Ampere Analysis ระบุว่า ในช่วงหลายปีหลัง อิทธิพลของภาพยนตร์เทศมีแนวโน้มจะเข้าไปแบ่งเค้กตลาดจีนได้น้อยลง โดยมีสัดส่วนลดลงจาก 50% ในปี 2016 เป็น 40% ในปี 2018 และเหลือเพียง 15% ในปี 2020

 

และด้วยสารพัดสงครามและความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ที่นำไปสู่แนวโน้มการออกกฎระเบียบของจีนที่เข้มข้นยิ่งขึ้น จึงคาดว่าเราจะไม่เห็นตัวเลขสัดส่วนดังกล่าวกลับหัวได้ในเวลาอันใกล้

 

“สงครามความบันเทิง” ดูจะเป็นสนามใหม่ของความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจโลกด้วยเสียแล้ว

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3733 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 21-24 พ.ย.2564