สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายฟาอิซ นากูธา นักเศรษฐศาสตร์ของ ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการจ้างงาน จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินเฟ้อของอาเซียนปรับตัวขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 2.7% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.2% ในปีนี้ โดยเวียดนามและอินโดนีเซียมีแนวโน้มเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นมากที่สุด
นายนากูธาระบุว่า เงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มแตะระดับสูงสุดในช่วงต้นปี 2565 ก่อนจะชะลอตัวลงเล็กน้อย และจะยังคงอยู่ที่ระดับสูง
ส่วน เงินเฟ้อทั่วโลก นั้นคาดว่าจะแตะระดับเฉลี่ย 4.3% ในปีหน้า ส่วนปีนี้ (2564) คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3.9%
ฝ่ายวิจัยของธนาคาร BofA ยังเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ 2563 และแนวโน้มเงินเฟ้อระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 ของ 6 ชาติอาเซียน ไว้ดังนี้
เงินเฟ้อและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ ใน 6 ชาติอาเซียน ระหว่างปี 2563-2566
2563 2564 2565 2566
อินโดนีเซีย 2.0% 1.5% 2.8% 3.1%
มาเลเซีย -1.1% 2.4% 2.0% 2.3%
ฟิลิปปินส์ 2.6% 4.3% 3.2% 3.2%
สิงคโปร์ -0.2% 2.2% 2.5% 1.8%
ไทย -0.9% 1.1% 2.0% 1.1%
เวียดนาม 3.2% 1.9% 3.7% 3.3%
ที่มา: BofA Global Research หมายเหตุ: ปี 2564-2566 เป็นตัวเลขคาดการณ์
ในส่วนของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น รายงานของ BofA คาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มจะเร่งยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) เร็วขึ้น โดยคาดว่าเฟดจะมีมติลดการซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปีนี้ (การประชุมเดือนธ.ค.)
นอกจากนี้ BofA ยังคาดการณ์ว่า ในปีหน้า (2565) เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งการเลิกมาตรการ QE เร็วขึ้นของเฟด ประกอบกับเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องปรับนโยบายคุมเข้มทางการเงินเร็วกว่าที่คาด
ทั้งนี้ BofA คาดว่า ในปี 2565 อินโดนีเซียจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มาเลเซียและเวียดนาม 0.50% ส่วนไทยและฟิลิปปินส์ คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในปีหน้า ขณะที่สิงคโปร์ คาดว่าจะปรับขึ้น 0.50%
ข้อมูลอ้างอิง
Asean Inflation Seen at 10-Year High in 2022 as Demand Recovers