กูรูนิคมอุตสาหกรรมฟันธง ศก.ไทยปี 65 ยังติดหล่ม-ห่วงไทยหมดเสน่ห์ลงทุน

08 ม.ค. 2565 | 04:12 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2565 | 11:34 น.

ในสถานการณ์ที่เวียดนามกำลังจะแซงหน้าไทยหลายด้าน หลังจากที่นโยบายด้านเศรษฐกิจของเวียดนามระยะ5 ปี(2564-2568) ตั้งเป้าจีดีพีจะเติบโตถึงปีละ 6.5-7.0% ทำให้นักลงทุนทั่วโลกตาลุกวาว แห่โฟกัสมายังเวียดนามไม่ขาดสาย

กูรูนิคมอุตสาหกรรมฟันธง ศก.ไทยปี 65 ยังติดหล่ม-ห่วงไทยหมดเสน่ห์ลงทุน

 

ทั้งนี้คลื่นการลงทุนเทเม็ดเงินลงเวียดนามต่อเนื่องโดยเฉพาะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค วันนี้สถานะของเวียดนามประชิดแค่หายใจรดต้นคอไทยชัดเจน “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเ ศษ นายทวิช เตชะนาวากุล  ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ผู้พัฒนาที่ดินเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมายาวนานในยุคเศรษฐกิจไทยบูมสุดขีด ฉายภาพความกังวลถึงสถานะไทยนับจากนี้

 

ทวิช  เตชะนาวากุล

 

  • ปัจจัยภายนอกตัวแปรสำคัญ

นายทวิชมองว่า หากมองย้อนไป 1-2 ปี เกิดวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดใหม่ ๆ  เกิดความไม่แน่นอนในทุกๆด้าน  ประเทศต่าง ๆ ก็พยายามเยียวยาทั้งจากภาครัฐและเอกชนโดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจด้วยรูปแบบต่างๆ  ดังนั้นเงินจะสะพัดไปทั่วโลก พอกระแสเงินมากดอกเบี้ยต่ำ จะเห็นว่าตลาดหุ้นอเมริกาทำนิวไฮไปเรื่อย ๆ  ดังนั้น 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเติบโตแบบผิดปกติในประเทศที่พัฒนาแล้วเศรษฐกิจเติบโต 4-6% ซึ่งควรเป็นอัตราการเติบโตของประเทศที่กำลังพัฒนา

 

กูรูนิคมอุตสาหกรรมฟันธง ศก.ไทยปี 65 ยังติดหล่ม-ห่วงไทยหมดเสน่ห์ลงทุน

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง หลายประเทศพยายามต่อสู้กับโควิด-19  ขณะนี้หลายประเทศก็เป็นห่วงค่าครองชีพสูงทั้งค่าพลังงาน ราคาน้ำมันพุ่งสูงสุดในรอบหลายปี ก็ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามมา  ด้านอเมริกากำลังจะออกมาลด QE ในปี 2565 จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้ และอเมริกามีคู่ค้าสำคัญคือจีน และสงครามการค้าระหว่างกันก็ยังคงมีอยู่   จีนจากที่เคยส่งออกก็หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และหันเหไปเอเชียไปอาเซียนมากขึ้น โดยจีนพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมกัน

 

สำหรับประเทศไทย การกลับมาเปิดประเทศโดยเริ่มจากการท่องเที่ยวหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแสน แต่เข้ามาเพียงไม่กี่หมื่นราย   และในจังหวะที่ไทยเปิดประเทศ ในบางประเทศยังปิดดังนั้นความไม่แน่นอนยังมีสูง ตอนนี้โดยส่วนตัวหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นในขณะที่ประเทศอื่นชะลอตัวลงสวนทางกัน เพราะเศรษฐกิจเขาโตไปก่อนหน้านี้แล้ว พอประเทศอื่นชะลอตัวเราเดินสวนทางดังนั้นผลจะไม่ดีมากอย่างที่อยากให้เป็น  เพราะที่ถูกคือทั่วโลกและไทยต้องโตไปด้วยกันถึงจะดี

  • ต้องออกแรงดัน3 เครื่องยนต์ช่วย

นายทวิช ประเมินภาพรวมไทยจากนี้ไปว่ายังต้องใช้ 3 เครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ 1.ภาคส่งออกเวลานี้ของไทยมีเครื่องมือด้านการส่งออกดี แต่ก็ติดเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือพุ่ง เพียงแต่เรายังได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อน 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ามาประมาณ 10%  แต่อย่าลืมว่าการส่งออกของไทยเด่นๆก็เป็นยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ก็เป็นทุนต่างชาติ เรามีสถานะแค่ฐานรับจ้างผลิต ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง กุ้งแปรรูป กุ้ง ไก่แช่แข็งเป็นธุรกิจคนไทย ก็จะได้ประโยชน์บ้าง

 

2.การท่องเที่ยวที่มีต้นทุนต่ำกว่าการส่งออก  แต่ตอนนี้สะดุดคาดว่าการท่องเที่ยวปี2564จะเหลือไม่ถึง40ล้านคน(ตามภาวะปกติ)ก็ยังมีความหวังว่าปี 2565 จะดีขึ้น

 

3.การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในไทยก็หายไปมากเพราะพิษโควิดเดินทางไม่ได้ แต่การซื้อ-ขายผ่านช่องทางเทคโนโลยีก็มีบทบาทแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ประเมินโดยรวมจะพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเรามีเม็ดเงินลงทุน 7-8 แสนล้านบาทก็ลดลงต่อเนื่อง  เพียงแต่เรายังได้อานิสงค์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นรถไฟความเร็วสูง

 

“ต้องยอมรับว่าเสน่ห์การลงทุนในไทยเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดี  ซึ่งไม่รู้จะได้เห็นอีกเมื่อไหร่ อย่าลืมว่าในช่วง10 ปีที่ผ่านมาฐานการผลิตไทยไม่มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแต่การขยายกำลังผลิตเดิมๆ ทำให้ภาพรวมไทยกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าโลว์เทค”

 

แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 3 เครื่องมือนี้ก็ยังจำเป็นและต้องออกแรงช่วยมากขึ้นต่อไปเพราะถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นไปในทิศทางบวกไทยก็ได้รับอานิสงค์จากเครื่องมือ 3 ตัวนี้จะมากหรือน้อยก็ต้องจับตาดูต่อไป

 

  • ต้องปรับนโยบายเลิกกระจุกเน้นกระจาย

นายทวิช เปรียบเทียบการลงทุนในเวียดนาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคเพราะมีความพร้อมด้านแรงงานถูกกว่าไทยและอายุแรงงานเฉลี่ยก็อยู่ในวัยทำงาน  ตอนนี้ค่าแรงในไทยสูงเป็นอันดับ 2ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์  เวียดนามได้อานิสงค์จากการลงทุน FDI เข้าไปจำนวนมาก และใช้เวลา 2ปีตั้งนิคมอุตสาหกรรมตั้งโรงงานได้ แถมค่าแรงได้เปรียบนโยบายด้านการลงทุนบางด้านเอื้อดีกว่าไทย

 

“ที่ผ่านมาไทยก็ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนแต่ออกมาในรูปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่อีอีซี  จะเห็นว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่อีอีซี ตรงนี้รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนนโยบาย เปิดโอกาสให้การลงทุนขนาดกลางขนาดย่อมที่คนไทยพัฒนาเอง เกิดการลงทุนได้ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย  รวมถึงเปิดให้ทุกพื้นที่สามารถลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ได้ด้วยโดยเน้นการกระจายไปยังทุกจังหวัด  โดยเปิดกว้างเพื่อเป็นตัวเร่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทค  ตอนนี้ถ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ต้องมีซัพพลายเชน  ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2565-2566 ได้อีกช่องทาง”

 

กูรูนิคมอุตสาหกรรมฟันธง ศก.ไทยปี 65 ยังติดหล่ม-ห่วงไทยหมดเสน่ห์ลงทุน

 

สำหรับฐานการผลิตไทยยังต้องจับตาหลายด้าน รวมถึงฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังก้าวสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐจะส่งเสริมของใหม่จะดูแลของเก่าอย่างไรทั้งคน และระบบการผลิตแบบเก่าจากผู้ประกอบการจำนวนมาก 

 

“ยอมรับว่าน่าเป็นห่วงฐานการผลิตไทยอีกไม่เกิน 5 ปีน่าห่วงหลายด้านถ้าเราไม่พัฒนา นโยบายส่งเสริมต้องรีบเปลี่ยน ต้องรีบพัฒนาอุตสาหกรรมบริการมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมไอที ซอร์ฟแวร์ ค้าปลีก โลจิสติกส์ โดยเฉพาะภาคบริการจะมีทิศทางสำคัญจะเป็นอีกทางมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้”

 

นอกจากนี้ยังมองว่าที่ผ่านมาไทยวางแผนด้านการศึกษามาผิดทาง  เราไปส่งเสริมให้คนเรียนฟรี 10 ปี 15 ปี ซึ่งผิดในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจ ผลักดันให้คนเรียนสูงหมดแต่ขาดแรงงาน  เวลานี้มองว่ารัฐบาลควรปรับเปลี่ยนการใช้เงินของรัฐ โดยนำเงินมาสร้างงาน มาจ้างงาน กระตุ้นให้คนมีงานทำในระยะสั้นน่าจะดีกว่า

 

  • ไทยยังไม่ก้าวผ่านผู้มีรายได้สูง

อย่างไรก็ตามสรุปรวมได้ว่าปี 2565 ยังเหนื่อย เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ 1.หนี้ครัวเรือนพุ่ง 2.การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมยังคงกระทบต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวโรงแรม 3.จากวิกฤติโควิด-19 เกรงว่าจะเกิดการปิดจังหวัดเป็นช่วงๆเกิดขึ้น เนื่องจากเชื้อไวรัสพัฒนาไปเรื่อย ๆ 4.เกิดภาวะกำลังซื้อต่ำ  5.คนไม่มีกำลังซื้อก็จะลามกระทบถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ 6.การลงทุนจากต่างประเทศคาดหวังยากขึ้น 7.อย่าคาดหวังว่าตัวเลขท่องเที่ยวจะกลับมาเร็ว

 

“โดยสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังติดหล่มประเทศที่มีรายได้ขนาดกลางอยู่และยังไม่สามารถก้าวผ่านผู้มีรายได้สูงได้”