กนอ. เร่งดูดการลงทุน-หาช่องทางธุรกิจใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

13 ธ.ค. 2564 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2564 | 20:07 น.

กนอ. เร่งดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ปลี่ยนเพื่ออนาคตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบาย BCG ของรัฐบาล ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.กำลังจะเข้าสู่ปี 49 ในการดำเนินงาน โดยจะมุ่งการทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์ กนอ. เปลี่ยนเพื่ออนาคต สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน : Transform to the Sustainable Future โดยจะมุ่งเน้นเร่งดึงดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ 
ทั้งนี้ ยังจะกำหนดแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ แผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. และยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
"ความสำเร็จของ กนอ.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่า บนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงสมัย ส่งผลให้ กนอ.เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค" 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.

อย่างไรก็ตาม ด้วยความท้าทายใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (covid-19) สภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝน และความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ กลายเป็นเรื่องของโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ

 จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทางในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG Model ของรัฐบาล ที่ใช้หลักคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532-2542) กล่าวว่า กว่า 49 ปี ที่ กนอ.ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education)

และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics) ซึ่ง กนอ.ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ.เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม