ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูให้ความสำคัญกับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง กระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ (Antifragile) ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ไล่ตั้งแต่ 1.กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจเหมือง ยังคงรักษากำลังการผลิตและปริมาณสำรองที่ดีเพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการในตลาดและสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มจากสถานการณ์ราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น และมองหาโอกาสต่อยอดการลงทุนจากแหล่งก๊าซต้นน้ำไปยังธุรกิจกลางน้ำ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป มุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ด้วยความยืดหยุ่นจากราคาต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวนควบคู่กับการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีการขยายการลงทุนในตลาดกลยุทธ์สำคัญที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ยังคงเน้นการสร้างอัตราการเติบโตให้พอร์ตเทคโนโลยีพลังงานที่มีอยู่ รวมทั้งลงทุนและพัฒนาโซลูชั่นหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ และเสริมสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจที่มีอยู่กับธุรกิจใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เมืองอัจฉริยะ โซลาร์ลอยน้ำ และระบบการบริหารจัดการพลังงาน และยังเดินหน้าขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาว หรือ New S-Curve ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เทรนด์แห่งอนาคตและสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของบ้านปูในระยะยาวอีกด้วย
-ปลื้มรายได้ไตรมาสแรกโต
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า ไตรมาสแรกปี 2565 กลุ่มบ้านปูสามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขายรวม 1,256 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 41,509 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 19,247 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 71 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ดูกราฟิกประกอบ) โดยผลกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 นี้ ส่วนหลักมาจากราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สามารถรองรับความไม่แน่นอนของราคาและความต้องการของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น
-3 ปัจจัยเสี่ยงที่ให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ในแง่บ้านปูจะมี 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องให้ความสำคัญ ไล่ตั้งแต่ 1.ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน ต้องวิเคราะห์ราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติต่อเนื่อง และบริหารความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือประเภทอนุพันธ์ทางการเงินในการขายถ่านหินล่วงหน้า (Coal Swap) และซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้า (Gas Collar)
2.ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และความขัดแย้งในยุโรป มีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงความไม่แน่นอนของตลาดพลังงาน ทำให้ ราคาเชื้อเพลิงอาจปรับตัวในลักษณะผันผวน 3.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และอาจนำไปสู่การใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้นและปัญหาสินเชื่อตึงตัว (Credit Crush) ได้
-พร้อมรับมือปัจจัยเสี่ยง
เมื่อถามว่าบ้านปูมีหลักหรือมีการปรับกลยุทธ์ในการรับมือหรือการบริหารความเสี่ยงอย่างไรในสภาวะเช่นนี้ นางสมฤดี กล่าวว่า บ้านปูมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯสามารถลดโอกาสที่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ ไล่ตั้งแต่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) จะดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวางแผนธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว
ส่วนความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) จะวิเคราะห์สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาพลังงานที่มีความผันผวน รวมทั้งพิจารณาและตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk) ดำเนินมาตรการจัดการความเสี่ยงเพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความมั่นใจในระบบมาตรฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง
-โชว์แผนขับเคลื่อน 9 ธุรกิจ
นางสมฤดี ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าของพอร์ต / แผนพลังงานรูปแบบใหม่ของบริษัท ทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ประกอบด้วย 1.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคา ลานจอดรถ และโซลาร์ลอยน้ำ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 138 เมกะวัตต์ และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
2.ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ (Ha Tinh) ที่มีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ในจังหวัดฮาติ๋ญ (Ha Tinh) ประเทศเวียดนาม 3.ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Shares Subscription Agreement: SSA) เพื่อเข้าซื้อหุ้น ของ Solar Esco Joint Stock Company ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนามที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร
4.เข้าซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา ขนาด 5.9 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย และเดินหน้าโครงการ Summer Lasalle เฟส 3 ในกรุงเทพมหานคร ขนาด 982 กิโลวัตต์ 5.ได้รับโอกาสเป็นผู้ดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำในนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน กำลังผลิตรวม 32 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้
6.ธุรกิจอีโมบิลิตี้ (E- mobility) ปัจจุบันให้บริการ Ride Sharing รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (MuvMi) มีจุดบริการกว่า 2,000 แห่ง ครอบคลุม 10 พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและชลบุรี ในปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะขยายจุดบริการเป็น 50,000 แห่ง และให้บริการ Charger Management แพลตฟอร์มสถานีชาร์จร่วมกับ EVolt Technology ปัจจุบันมีจุดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า 116 จุด อาทิ ในสถานีบริการน้ำมัน อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น ซึ่งเรากำลังดำเนินการตามแผนในการขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ได้ 2,000 แห่ง ภายในปี 2568
7.โครงการสมาร์ทซิตี้และการบริหารจัดการพลังงาน ทั้งหมด 21 โครงการ และและมีแผนจะขยายเป็น 30 โครงการ ภายในปี 2568 ล่าสุดได้มีการขยายธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยได้มีการลงนามในสัญญาการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับบริษัท SP Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์ และเอเชียแปซิฟิก
8.ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) มีกำลังการผลิตรวม 440 กิกะวัตต์ชั่วโมง และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในในปี 2568 ทั้งยังมีการเพิ่มยอดขายระยะยาว โดยการรักษาปริมาณสำรองในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าในอีก 12 เดือน รวมไปถึงการปรับแผนกลยุทธ์และระบบการจัดการความเสี่ยงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางการตลาดของตลาดไฟฟ้าญี่ปุ่น 9.ธุรกิจกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มีกำลังการผลิตรวม 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในในปี 2568
อย่างไรก็ตามจากการลงทุนใน 10 ประเทศในกลุ่มธุรกิจ แหล่งพลังงาน , ผลิตพลังงาน และ เทคโนโลยีพลังงานของล้านปู ใน ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ล้วนมีศักยภาพและเป็นประเทศกลยุทธ์ของบ้านปูในบริบทที่ต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง เช่น การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในออสเตรเลียและเวียดนาม การซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในญี่ปุ่น และการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“จะเห็นว่าทิศทางแผนการดำเนินงานของบ้านปู จะสอดคล้องไปกับแผนการดำเนินงานของรัฐบาลที่เราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และผลักดันไทยสู่สมาร์ทซิตี้ต่อไปในอนาคต โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจในการขับเคลื่อน”นางสมฤดี กล่าว