นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่ากรมได้มีการหารือกับภาคเอกชน เช่น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมทูน่าไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รวม 24 สมาคม เพื่อหารือถึงสถานการณ์ของสินค้าและหารือแนวทางในการส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจากการหารือทำให้ทราบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารส่วนใหญ่
ยังคงมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีในการส่งออก รวมทั้งจะมีตัวเลขในการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม ผลไม้ ผัก ประมง โดยเฉพาะปลาทูน่า อาหารสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ อาหารสําเร็จรูป อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ข้าว และมันสําปะหลัง เป็นต้น
โดยภาคเอกชนให้ข้อมูลว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารข้างต้น ที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดําเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ และการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกําลังซื้อ
สำหรับสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ในช่วง 5 เดือน ปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่ารวม 467,255.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.16% โดยสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 71,870.68 ล้านบาท เพิ่ม 39.37% 2.ข้าว มูลค่า 47,802.76 ล้านบาท เพิ่ม 34.55%
3.อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) มูลค่า 59,225.16 ล้านบาท เพิ่ม 19.92% 4.ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มูลค่า 50,259.71 ล้านบาท เพิ่ม 15.54% 5.ผัก ผลไม้ สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 90,911.75 ล้านบาท เพิ่ม 10.16%
ส่วนตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน มูลค่า 95,289.96 ล้านบาท เพิ่ม 10.92% 2.สหรัฐฯ มูลค่า 60,937.81 ล้านบาท เพิ่ม 34.28% 3.ญี่ปุ่น มูลค่า 56,728.94 ล้านบาท เพิ่ม 10.01% 4.อินเดีย มูลค่า 21,926.56 ล้านบาท เพิ่ม 219.90% และ 5.มาเลเซีย มูลค่า 17,519.7 ล้านบาท เพิ่ม 36.86%