เมื่อหลายวันก่อน ผมมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เข้าร่วมหลักสูตร นบส. 1 เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมเมืองและการพลิกฟื้นพื้นที่ชนบทของไทย ก็เลยนึกถึงนโยบายที่สอดประสานของจีนในช่วงหลายปีหลัง
ในด้านหนึ่ง เราได้เห็นการนำเสนอแนวคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนเมือง (Urbanization) ของจีนผ่านแนวคิดใหม่เป็นระลอก อาทิ การพัฒนากลุ่มเมือง (City Cluster) เศรษฐกิจ 1 ชั่วโมงเดินทาง (One-Hour Economy) ชุมชน 15 นาทีเดิน (15-Minute Community) อาคารหายใจได้ (Breathing Buildings) และเมืองในสวน (City in the Park)
ในอีกด้านหนึ่ง ภายหลังความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการขจัดปัญหาความยากจนหมดสิ้นจากแผ่นดินจีน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อราว 2 ปีก่อน จีนก็ต้องการกระจายความเจริญ จึงเดินหน้านโยบาย “สร้างความกระชุ่มกระชวย” ให้กับพื้นที่ชนบท
จีนมุ่งหวังให้นโยบายใหม่นี้ เป็นหนึ่งในกลไกในการขยายเศรษฐกิจและคนชั้นกลางในอนาคต อย่างไรก็ดี วันนี้ผมไม่อยากหยุดแค่เพียงแนวคิด แต่เราจะไปดูกันว่าจีนทำ “ความฝัน” ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไรกัน ...
ผมจะขอเล่าเรื่องนี้ผ่านกรณีศึกษาของโครงการ “อู๋วเจียงไจ้” (Wujiangzhai) ซึ่งเป็นโครงการด้านการท่องเที่ยวที่มีลักษณะพิเศษและมากด้วยเสน่ห์และความสร้างสรรค์ ณ กุ้ยโจว มณฑลที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยากจนที่สุดของจีน
ผลจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลายปี โครงการนี้จึงเป็นที่ยอมรับของรัฐบาล เป็นที่กล่าวขวัญถึงของภาคประชาชนในปัจจุบัน และกำลังจะกลายเป็น “ต้นแบบ” แห่งการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ย้อนกลับไปในปี 2015 กลุ่มติงตู่ (Dingdu Group) ได้รับเชิญจากรัฐบาลท้องถิ่นให้ไปช่วยทำโครงการบรรเทาปัญหาความยากจน ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยวิวทิวทัศน์ทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงาม ซึ่งเอื้อต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ภายหลังการสำรวจพื้นที่ กลุ่มติงตู่เสนอขอทำโครงการในบริเวณเทือกเขาดาษๆ ขนาดเล็กลูกหนึ่งในเขตป้านโจว (Banzhou) เมืองจุนยี่ (Zunyi) ที่ไม่ได้มีทรัพยากรดังกล่าวโดดเด่นมาก ดังเช่นพื้นที่ข้างเคียงในมณฑลกุ้ยโจวแห่วนี้เสียด้วยซ้ำ
หมู่บ้านอู๋วเจียง (Wujiang) นี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า หมู่บ้าน “ฉางเจียง” (Changjiang) ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำอู๋วเจียง ที่ปิดล้อมไปด้วยเทือกเขา และแทบไม่มีชุมชนที่ทันสมัยในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เลย
หมู่บ้านมี 3 ชุมชนย่อย และ 6 กลุ่มชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านต่างละทิ้งถิ่นฐาน ไปขุดทองในชุมชนเมืองใหญ่ ทำให้หมู่บ้านเหลือแต่เด็กและคนสูงอายุ มีระดับการศึกษาที่ไม่สูง
ประการสำคัญ มีเพียง 40% ของจำนวนคนในหมู่บ้านเท่านั้น ที่มีความพร้อมและความสามารถในการทำงาน โดยภาคการเกษตรเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูกยาสูบและพริกไทย
ขณะเดียวกัน หมู่บ้านก็ขาดโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาทิ การไม่มีห้องน้ำ และครัวปรุงอาหารที่เพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
แต่ทีมงานก็ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” ได้เป็นอย่างดี โดยมองว่า นอกจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ หาชมไม่ได้ง่ายแล้ว หมู่บ้านยังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีลักษณะเฉพาะที่ควรอนุรักษ์และสานต่อ
หากสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เพียงพอ ของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ ก็จะเป็นการสร้างความกระชุ่มกระชวยและพลิกฟื้นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท รวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นอกจากนี้ หมู่บ้านยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ดีเยี่ยมรองรับอยู่ อาทิ ถนนหนทางที่มีสภาพดีและเชื่อมโยงไปในหลายหัวเมืองข้างเคียง และรถไฟความเร็วสูงที่พาดผ่าน ซึ่งสามารถต่อสายได้จากทุกทิศทุกทาง
การเดินทางระหว่างหังโจว (Hangzhou) เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติของจีน กับ เมืองจุนยี่ ก็ใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง และนั่งรถต่อจากสถานีรถไฟความเร็วสูงตอนใต้เมืองจุนยี่ ไปยังอู๋วเจียงไจ้ ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการ ก็ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ การเดินทางจากพื้นที่โครงการดังกล่าวไปยังสนามบินกุ้ยหยางหลงตงป่าว (Guiyang Longdongbao Airport) ซึ่งเป็นสนามบินหลักในเมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว ก็ใช้เวลาราว 1.5 ชั่วโมงเท่านั้น
คำถามสำคัญก็คือ แล้วกลุ่มติงตู่ออกแบบ “โมเดลธุรกิจ” และต่อ “จิ๊กซอว์” ให้เกิดเป็นรูปธรรมกันได้อย่างไร เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...