บ่อยครั้งที่ผมชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน แต่ก็เน้นไปที่สินค้าใหม่ที่จีนสร้างสรรค์ขึ้น วันนี้ผมจะขยับขยายไปด้านบริการบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “นิยายวิทยาศาสตร์”
ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในนิยายและภาพยนตร์ “ไซไฟ” เพราะนอกจากได้เพลิดเพลินกับจินตนาการของนักเขียนแล้ว ยังทำให้ผมสามารถติดตามความคิดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่แตกต่างของมนุษย์ในโลกอนาคต
สิ่งนี้อาจทำให้ผมฝันอยากขึ้นไปท่องอวกาศ และเยือนดวงดาวที่แปลกแตกต่างจากโลกตั้งแต่วัยเยาว์ ผมเชื่อว่ามีผู้คนทั่วโลกจำนวนมากที่ชื่นชอบและคลั่งไคล้คล้ายกับผม รวมทั้งคนจีนด้วย ...
ด้วยความหลากหลายของปัจจัยเชิงบวก ทำให้กลุ่มคนจีนที่ชื่นชอบ “นิยายวิทยาศาสตร์” ก็กำลังเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ขณะที่อุตสาหกรรมฯ ของจีนก็พัฒนาและเติบใหญ่อย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ระหว่างปี 2016-2020 ถือเป็นช่วง “ยุคทอง” ของอุตสาหกรรมฯ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมูลค่าอุตสาหกรรมฯ ขยายตัวถึง 5.5 เท่าจาก 10,000 ล้านหยวน เป็นกว่า 55,000 ล้านหยวน
คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ของจีน
แน่นอนว่า “เศรษฐกิจ” ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนมี “กำลังซื้อ” เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ส่งผลให้ “อุปสงค์” ผลิบาน สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ “นิยายวิทยาศาสตร์” ที่เคยถูกมองว่าเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” กลายเป็น “แหล่งความรู้และสันทนาการ” ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“บทบาทภาครัฐ” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่ง โดยในช่วงหลายปีหลังนี้ รัฐบาลจีน นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น
ตัวอย่างหนึ่งที่ดีก็คือ ในช่วงที่จีนเผชิญกับวิกฤติโควิด สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฯ ย่ำแย่ลงในปี 2020 รัฐบาลจีนก็ออกนโยบายใหม่ รางวัล และกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวข้อง ทำให้อุตสาหกรรมฯ เล็งเห็นถึงโอกาสใหม่และสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้
ในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจีนยังได้มอบหมาย และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมฯ
ในด้านหนึ่ง ศูนย์วิจัยนิยายวิทยาศาสตร์ฯ (China Science Fiction Research Center) แห่งกรุงปักกิ่ง ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการสนับสนุนส่งเสริมการสานต่อการวิจัยเชิงพื้นฐาน การฝึกอบรมคนที่มีพรสรรค์ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในด้านนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งสร้างประโยชน์แก่อุตสาหกรรมฯ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังได้เห็นชอบและออกเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมภาพยนตร์ไซไฟ
โดยในปี 2020 สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน (China Association for Science and Technology) และสำนักงานบริหารภาพยนตร์แห่งชาติจีน (China Film Administration) ได้เห็นชอบกับแนวทางการสร้างความการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ โดยมุ่งเน้นว่าภาพยนตร์ไซไฟจะเป็น “ตัวเร่ง” การพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน
ประการสำคัญ ในปี 2021 เมื่อคณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติแผนงานระดับชาติสำหรับนิยายวิทยาศาสตร์ปี 2021-2035 ที่ระบุว่า “นิยายวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรม นิยาย และวัฒนธรรมด้านวิทยาศาสตร์”
กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การลงนามความร่วมมือเชิงพันธมิตรระหว่างรัฐบาลกรุงปักกิ่งกับสมาคมฯ เพื่อจัดตั้งพื้นที่คลัสตอร์อุตสาหกรรมฯ “เมืองไซไฟ” แห่งแรกขึ้นในบริเวณรอบสวนอุตสาหกรรมโช่วกัง (Shougang Industrial Park) เขตสือจิ่งซาน (Shijingshan) ด้านซีกตะวันตกของกรุงปักกิ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน สวนอุตสาหกรรมดังกล่าวได้แปรสภาพจาก “โรงงานผลิตเหล็กดั้งเดิม” ที่เต็มไปด้วยปล่องไฟและเตาเผา เป็น “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมฯ” ที่เต็มไปด้วยฉากไซไฟในระบบ 5G และ XR (Extended Reality) รวมทั้งสวนเมตาเวิร์ส (Metaverse)
ยกตัวอย่างเช่น สวนเมตาเวิร์สโซเรียล (SoReal Metaverse Park) ในบริเวณเตาหลอมเหล็กหมายเลข 1 ที่นำเสนอสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนในรูปแบบใหม่ที่ล้ำสมัย
จนถึงเดือนพฤษภาคม 2023 สวนอุตสาหกรรมฯ มีกิจการไซไฟเกือบ 100 ราย ได้เข้าไปจัดตั้งในพื้นที่ที่ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างคอนเท้นต์จากประสบการณ์ที่ดื่มด่ำ การปรับเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา การผลิตเทคนิคพิเศษภาพยนตร์และโทรทัศน์ และเทคโนโลยีหลัก
พื้นที่คลัสเตอร์ยังผสมผสานบริการด้านอาหาร การช้อปปิ้ง และความบันเทิงเข้าด้วยกัน และนำผู้เข้าเยี่ยมชมผ่านประสบการณ์เชิงลึกโดยเห็นพวกเขาเองในภาพยนตร์ ทำให้พื้นที่คลัสเตอร์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านไซไฟยอดนิยม และเขตสือจิ่งซานได้รับการยอมรับว่าเป็น “เขตไซไฟ” สำคัญในปักกิ่ง
นอกจากนี้ สวนอุตสาหกรรมโช่วกังยังถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์จีน (China Science Fiction Convention) ครั้งที่ 8 ประจำปี 2023 ซึ่งมีถึง 40 กิจกรรมพิเศษที่รวบรวมเอา 60 เทคโนโลยีล้ำสมัยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจาก 50 กิจการไซไฟมานำเสนอ
ที่ได้รับความสนใจมากก็ได้แก่ จอแสดงภาพ AR กลางแจ้งที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าเยี่ยมชมงาน สามารถมีประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับโลกเสมือนจริงและเทคนิคพิเศษผ่านโทรศัพท์มือถือ
รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ VR การแสดงทางวิทยาศาสตร์ โรงภาพยนตร์ล้ำสมัย อีสปอร์ต VR ศูนย์ประสบการณ์โครงการโอลิมปิก และการเดินเข้าร้านอาหารโฮโลแกรมที่เสมือนจมดิ่งเข้าสู่โลกใต้น้ำ
งานประชุมดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของ “จงกวานชุนฟอรั่ม (Zhongguancun Forum) อีกด้วย “ZGC Forum” ถือเป็นการประชุมสุดยอดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติของจีน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-4 มิถุนายน ที่ผ่านมา
กำลังสนุกแต่พื้นที่ของผมหมดแล้ว คุยกันต่อในตอนหน้านะครับ ...