สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (จบ)

09 ก.ค. 2566 | 03:30 น.

สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3903

กลับมาพูดคุยเกี่ยวกับงาน Western China International Fair และการเตรียมตัวของผู้ส่งออกไทยเพื่อการลุยตลาดจีน ในยุคหลังโควิดที่ผมพูดค้างไว้กันต่อครับ ... 

หากท่านผู้อ่านไปจีนและมีโอกาสแวะไปช้อปปิ้งในจุดต่างๆ ในช่วงหลังนี้ ก็อาจสังเกตเห็นว่า ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ ช่องทางสมัยใหม่ที่ “ล้าหลัง” ไปอย่างรวดเร็ว มีพื้นที่ว่างอยู่บ้าง ส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุน “ปรับโฉม” กันขนานใหญ่ 

อาทิ การเพิ่มกิจการ “ภาคบังคับ” อาทิ ร้านสปา ร้านทำฟัน ร้านซักผ้า และสถาบันสอนดนตรี และการเติมร้านอาหารชื่อดังที่ผู้บริโภคจีน ยังคงให้ความสำคัญกับพฤติกรรม “การกินข้าวนอกบ้าน” เพื่อดึงดูดลูกค้า  

ทั้งนี้ คนจีนในยุคหลังโควิดไม่เพียงเลิกใส่หน้ากาก และกลับมาทักทายด้วยการจับมือและสวมกอด แต่ยังออกไปดื่มกินสังสรรค์นอกบ้านเป็นปกติกันแล้ว 

นอกจากนี้ ช่องทางจัดจำหน่าย อาทิ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และคอมมิวนิตี้มอลล์ ต่างพยายามกระตุ้นให้ร้านค้าพยายามนำเสนอสินค้าและบริการ รวมทั้งแคมเปญโปรโมชั่นที่ “เร้าใจ” มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้กลับมาแวะเวียนดังเดิม

การสร้าง “ความแตกต่าง” จากสินค้าของคู่แข่งขันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง นอกจาก “การสร้างแบรนด์” ที่เราพูดเน้นย้ำถึงความจำเป็นกันมาเป็นเวลานานแล้ว ผมยังสังเกตเห็น หลายแบรนด์ใหญ่ทำ “พันธมิตรแบรนด์” (Brand Alliance) เพิ่มมากขึ้นในตลาดจีนในระยะหลัง 

ประการถัดมาที่ทำไมไทยให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ก็เพราะ WCIF ถือเป็นงานแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตกของจีน   

โดยในปีนี้ งานยังได้ถูกยกระดับขึ้นเป็น 1 ใน 10 งานแสดงสินค้าระดับชาติของจีน เฉกเช่นเดียวกับงาน CIFTIS ด้านธุรกิจบริการที่กรุงปักกิ่ง CIIE งานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่สุดในโลกที่นครเซี่ยงไฮ้  และงาน Canton Fair งานแสดงสินค้าเก่าแก่สุดของจีนที่นครกวางโจว ที่ผู้อ่านอาจรู้จักเป็นอย่างดี 

ประการสำคัญ เสฉวนถือเป็นมณฑลเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาค โดยมีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน เมื่อนับรวมถึง “กลุ่มเมือง” รายรอบที่จีนเร่งเชื่อมโยงเข้าด้วยแล้ว ก็บ่งบอกถึงขนาดตลาดที่มีประชากรถึง 2 เท่าของประเทศไทย!!! 

เฉพาะฉงชิ่ง มหานครที่ใหญ่สุดของจีนที่อยู่ห่างจากนครเฉิงตูไปเพียงหนึ่งชั่วโมงรถไฟความเร็วสูง ก็มีจำนวนประชากรกว่า 30 ล้านคนเข้าให้แล้ว     

ในมิติเชิงคุณภาพ เศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งสองก็เติบโตแรงอย่างมีเสถียรภาพ และกำลังบูรณาการจุดเด่นเข้าด้วยกันมากขึ้นทุกขณะ จนคาดว่าจะกลายเป็น “เศรษฐกิจไข่แดงแฝด” ของภูมิภาคตะวันตกของจีน พื้นที่นี้จึงเปี่ยมไปด้วยศักยภาพทางธุรกิจ

ส่วนนี้ก็ต้องขอชื่นชมในความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารภาครัฐของไทยที่ “ยอมเหนื่อย” เก็บเกี่ยวประโยชน์จากเวทีงาน WCIF ในครั้งนี้ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจแก่สินค้าและบริการของไทยในตลาดด้านซีกตะวันตกของจีน   

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ งานในปีนี้ ไทยได้รับเชิญเป็น “ประเทศเกียรติยศ” และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ก็ใช้จังหวะโอกาสนี้ ลงทุนออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ศาลาไทย ภายใต้แนวคิดหลัก “Open-Connect-Balance” 

นอกจากนี้ การจัด “ศาลาไทย” ในครั้งนี้ยังแสดงถึงโมเดลการพัฒนาที่น่าสนใจในหลายส่วน อาทิ โมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของภาครัฐ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ซึ่งถือเป็น “แม่งาน” ได้จับมือกับหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ททท. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และบีโอไอ มาร่วมจัดกิจกรรมพิเศษทางเศรษฐกิจ 

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน ก็มีหอการค้าไทยในจีน และสมาพันธ์ SME ที่ได้นำคาราวานธุรกิจสินค้าและบริการมากมายเข้าร่วมงาน ไล่ตั้งแต่กิจการขนาดใหญ่อย่างกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และ กลุ่มทีซีพี เจ้าของแบรนด์ระดับโลกอย่างกระทิงแดง

ไปจนถึงผู้ส่งออกขนาดกลางและเล็ก ที่นำเสนอสินค้าอาหารแปรรูป ของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้าน สินค้าแฟชั่น และชิ้นส่วนยานยนต์มาร่วมจัดแสดงอย่างละลานตา  

                              สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (จบ)

นอกจากนี้ ภายในศาลาไทยก็ยังนำเสนอธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ สปา และ นวดแผนไทย และนิคมอุตสาหกรรมจากไทย ในพื้นที่รวมกว่า 70 รายร่วมแสดงศักยภาพของไทยบนพื้นที่ 780 ตารางเมตร

“โมเดลการนำเสนอที่รอบด้าน” ก็เป็นภาพสะท้อนที่ดีอีกส่วนหนึ่ง โดยผู้จัดงานพยายามนำเสนอ “ความเป็นไทย” ในหลากหลายมิติ นอกเหนือจากสินค้าและบริการที่ผมนำเรียนไปแล้ว ภายในศาลาไทยยังได้นำเสนอ Soft Power ของไทยในหลายส่วน   

โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ มหาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ได้นำชุดการแสดงทางวัฒนธรรมอันดีของไทยตลอด 5 วันของการจัดงาน ซึ่งสร้างความตื่นตาโดนใจแก่ผู้ชมที่มาร่วมเยี่ยมชมงานอย่างคับคั่ง  

ถึงขนาดว่า ประธาน CCPIT ของเสฉวนยัง ได้กล่าวชื่นชมว่า “ไทยในฐานะประเทศเกียรติยศในครั้งนี้ ได้สร้างปรากฏการณ์ของความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีประเทศใดทำได้มาก่อน” 

ขณะเดียวกัน ผู้จัดงานยังได้เชิญชวนร้านอาหารไทย ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Selected ในพื้นที่มาร่วมสร้างสีสัน ช่วยให้ชาวจีนได้รู้จักและลิ้มรสอาหารไทยมากขึ้น 

นอกจากนี้ ไทยยังนำเสนอกิจกรรมสัมมนาเชิญชวนการลงทุนในไทย และอย่างที่ผมเกริ่นไปว่า ผู้จัดงานเลือกใช้แนวคิดหลัก “Open-Connect-Balance” ซึ่งเป็นการสานต่อจากการเป็นเจ้าภาพเอเปกที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา  

สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยให้การจัดสัมมนาด้านการลงทุนดังกล่าวมี “จุดขาย” ที่ชัดเจน แต่ยังตอกย้ำถึงความแน่วแน่ของไทยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้าสู่ไทยโดยยึดถือเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) 

แม้ว่างานแสดงสินค้า WCIF ในปีนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว โดยในด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการที่ไปร่วมงานอาจรู้สึกว่า จำนวนผู้ชมได้กลับมาอย่างน่าพอใจในเชิงปริมาณ แต่ “กำลังซื้อ” ของจีนในเชิงคุณภาพยังไม่ “ทรงพลัง” ดังเช่นในยุคก่อนโควิด ผู้บริโภคจีนดูจะใช้เวลานานในการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคามากกว่า 100 หยวน  

แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงยึดมั่นในเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และด้วยความพร้อมและศักยภาพของจีนที่มีอยู่ เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะ “พลิกฟื้น” กลับมาเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะกลับมาแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

ในอีกด้านหนึ่ง “ศาลาไทย” ได้สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทย และเสริมสร้างภาพลักษณ์และความประทับใจใน “ความเป็นไทย” ให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านซีกตะวันตกของจีน  

และหากกองทัพสินค้าและบริการของไทยสานต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ผมก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ความสำเร็จในการร่วมงานในครั้งนี้ก็จะเป็น “กระดานดีด” นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจของไทยในตลาดจีนได้อย่างมากมายในระยะยาว ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน