เมื่อการประมงจีน...ก้าวสู่ผู้นำโลก (2)

05 เม.ย. 2567 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 06:19 น.

เมื่อการประมงจีน...ก้าวสู่ผู้นำโลก (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3980

ภายหลัง Deep Blue 1 ถูกทดลอง “นำร่อง” มาระยะหนึ่งแล้ว จีนก็เปิดตัวเรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเจนใหม่ภายใต้ชื่อ “Guoxin 1” ในเวลาต่อมา ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะปฏิวัติวงการประมงของจีนอีกครั้ง ... 

Guoxin 1 มีที่มาที่ไปที่น่าตื่นเต้นและน่าเรียนรู้มาก ย้อนไปในปี 2019 China State Shipbuilding Corporation Limited ได้นำเสนอแนวคิดและโครงการสาธิตสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลลึก 

โดยอาศัยความร่วมมือกันของหลายองค์กร ตั้งแต่ Qingdao Conson Development Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ลงทุนหลัก และรับผิดชอบการดําเนินงาน CSSC ห้องปฏิบัติการนําร่องแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล (ชิงต่าว) และสถาบันวิศวศาสตร์การประมังจีน (Chinese Academy of Fisheries Science) Guoxin 1 ก็ถูกเริ่มสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ Qingdao Beihai Shipbuilding Heavy Industry Co. ของ CSSC ในปลายปี 2020 และถูกปล่อยลงน้ำเพื่อทดสอบในต้นปี 2022

เรืออัจฉริยะลํานี้มีความยาวเกือบ 250 เมตร ที่ถูกออกแบบในแนวคิดคล้าย “โรงงาน” ที่แยกส่วน โดยมีถังเลี้ยงปลาที่ใกล้ชิดติดกัน 15 ถัง ที่มีปริมาตรรวมเกือบ 90,000 ลูกบาศก์เมตร เรียกว่า เป็นฟาร์มเลี้ยงปลาลอยน้ำขนาดใหญ่พอๆ กับเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,000 เดดเวทตัน หรือ เรือบรรทุกเครื่องบินเลยทีเดียว

เรืออัจฉริยะนี้มีสนนราคาอยู่ที่ 450 ล้านหยวน สามารถผลิตปลาได้มากกว่า 3,700 ตันต่อปี น้องๆ ผลผลิตของทะเลสาบชากาน (Chagan) แห่งมณฑลจี๋หลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจีน หรือ อาจคิดในมุมกลับกันว่า จีนใช้เงินเพียง 450 ล้านหยวน ในการขุดทะเลสาบน้ำเค็มเพื่อการประมงทะเลสมัยใหม่

Guoxin 1 มีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ อาทิ การถูกออกแบบให้สามารถล่องไปมา ระหว่างทะเลเหลือง และ ทะเลจีนใต้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงพายุไต้ฝุ่นและสาหร่ายที่เป็นอันตรายต่อปลา และอยู่ในน่านน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 22-26 องศาเซลเซียส ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปลาคุณภาพสูงสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ปลากะพง ปลาแซลมอนแอตแลนติก และ ปลาเก๋า 

ระบบยังคํานึงถึงความต้องการ ความหนาแน่นในการเพาะเลี้ยงปลา โดยแต่ละถังสามารถปรับให้มีขนาดสูงกว่าของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมได้ 4-6 เท่า ทำให้รอบการเลี้ยงสั้นลงได้มากกว่า 25% จากของเดิม

เรืออัจฉริยะยังติดตั้งอุปกรณ์การตรวจสอบน้ำ ออกซิเจน และ แสงแบบเรียลไทม์ด้วยกล้องใต้น้ำและเซ็นเซอร์ รวมทั้งระบบการให้อาหารอัตโนมัติ ที่มีจุดวัดและควบคุมกว่า 2,100 แห่ง อุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับสํานักงานบนฝั่งของบริษัทตลอดเวลา

ประการสำคัญ Guoxin 1 ยังมีจุดเด่นอยู่ที่อุปกรณ์ “การแลกเปลี่ยนน้ำ” ที่สกัดน้ำทะเลจากความลึกหลายสิบเมตรตลอดเวลา โดยน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาในแต่ละถัง จะถูกเปลี่ยนถ่าย 16 ครั้งต่อวัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบระบบปิดและควบคุมได้ 

สภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมได้นี้ ช่วยให้ปลาสามารถแยกออกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายได้ เช่น “กระแสน้ำแดง” และพายุไต้ฝุ่น ตลอดจนมลพิษบางอย่าง 

ภายหลังผ่านการทดสอบที่ยืนยันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว CSSC ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรจากงานออกแบบเรืออัจฉริยะนี้มากกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งสิทธิบัตรระหว่างประเทศอีก 1 ฉบับ

อย่างไรก็ดี Guoxin 1 ก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ เพราะเรืออัจฉริยะนี้ยังคงต้องใช้เชื้อเพลิงดีเซลที่มีราคาแพง ยากต่อการจัดหาใหม่ และก่อมลพิษทางอากาศ น้ำ เสียงรบกวน และมลพิษอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของฟาร์มเพาะเลี้ยงอัจฉริยะเจนนี้

ขณะเดียวกัน โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อน หรือ ความเร็วของเรือ ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการควบคุมระดับเสียง และการสั่นสะเทือนบนเรือ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายในการออกแบบและการก่อสร้างเรืออัจฉริยะนี้ 

กระแสข่าวล่าสุดยังระบุว่า Qingdao Conson Development Group ได้ประกาศแผนที่จะเปิดตัว Guoxin 2 และ Guoxin 3 ภายในปี 2024 และเดินหน้าก่อสร้าง Guoxin 4 รุ่นอัพเกรด ที่ลดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งในอนาคต เราคงต้องอดใจอีกสักระยะหนึ่งเพื่อลุ้นว่า เรือเจนใหม่นี้จะมีนวัตกรรมอะไรให้ “ว้าว” กันอีกบ้าง 

อีกนวัตกรรมด้านการประมงที่เพิ่งเปิดตัว เมื่อต้นปี 2024 ก็ได้แก่ ปลาหุ่นยนต์ 

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หุ่นยนต์ว่ายน้ำนี้มีขนาดเล็ก แม่เหล็กไฟฟ้าที่อ่อนนุ่ม ไม่มีแบตเตอรี่ ไร้สาย และ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รวมทั้งยังสามารถตรวจจับสิ่งปนเปื้อน โมเลกุลทางเคมี และ ไวรัสในพื้นที่ที่จํากัดได้

ปลาหุ่นยนต์นี้สามารถตรวจจับอุณหภูมิ ตรวจจับและวัดปริมาณอนุภาคไวรัสต่างๆ ในน้ำ และโดยลักษณะทางกายภาพที่มีรูปทรงคล้ายใบไม้ที่อ่อนตัว ก็ทำให้ปลาหุ่นยนต์สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่อแคบๆ ที่เข้าถึงยาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่กว้างไกลสําหรับการสํารวจพื้นที่ที่จํากัด ตั้งแต่การตรวจจับเชื้อโรคไปจนถึงการตรวจสอบมลพิษ

                     เมื่อการประมงจีน...ก้าวสู่ผู้นำโลก (2)

ระบบอัจฉริยะไร้สายนี้ติดตั้งเซ็นเซอร์ 3 ตัว โดยตัวที่ 1 และ 2 ทำหน้าที่ทดสอบ และวัดระดับคลอไรด์ และแอมโมเนียในน้ำรอบๆ ตัวด้วยความแม่นยำสูง ตามลำดับ 

ขณะที่ตัวที่ 3 สามารถทดสอบการมีอยู่ของไวรัส โดยทีมงานวิจัยได้เพิ่มชั้นกราฟีน ที่ดัดแปลงสารที่ต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายลงบนอิเล็กโทรดอื่น เพื่อทำหน้าที่จับอนุภาคไวรัสต่างๆ อาทิ ไวรัสซาร์-โควี-2 ที่สามารถก่อให้เกิดโรคโควิดได้

นอกจากนี้ ภายหลังการตรวจจับข้อมูล ปลาหุ่นยนต์นี้ยังมีชิปสำหรับการประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์ และส่งข้อมูลผ่านระบบการสื่อสารแบบระยะใกล้ (Near-Field) ไปยังสมาร์ทโฟนที่อยู่ใกล้เคียงเพื่ออ่านค่าได้แบบเรียลไทม์

และเพื่อให้การอ่านค่าสะดวกและง่ายขึ้น ทีมนักวิจัยยังได้ออกแบบ และพัฒนาซอฟท์แวร์ที่แสดงข้อมูลจากเซ็นเซอร์กราฟฟิกอีกด้วย

อนึ่ง นวัตกรรมนี้เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย City University of Hong Kong, Dalian University of Technology และ Beihang University โดยใช้วิธีติดแม่เหล็ก และเสาอากาศขดลวดเข้ากับหางที่ยืดหยุ่น ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยพลังงานในคลื่นวิทยุ ทําให้อุปกรณ์สามารถกระพือขึ้นและลงเพื่อขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าเหมือนปลาโลมา

ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร “Science Advances” (ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์) อธิบายถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ 

นวัตกรรมนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการ อาทิ หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ในระยะสั้น ไม่ไกลจากแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุเกินกว่า 4 เซนติเมตรเท่านั้น และจากสมาร์ตโฟนที่รับข้อมูลไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่ผมเชื่อมั่นว่า ทีมวิจัยของจีนคงไม่หยุดการพัฒนาเพียงแค่นั้นเป็นแน่

จีนยังมีนวัตกรรมด้านการประมงที่น่าสนใจอยู่อีกมาก เราไปอ่านต่อในตอนหน้าครับ ...