ข้อกล่าวหาถัดมาก็คือ การส่งออกของจีนจะทำให้เกิดขยะ “ล้นโลก” สำหรับผมแล้ว นี่อาจเป็นเพียงเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อปกป้องคุ้มครองตลาดภายในประเทศของสหรัฐฯ เอง ซึ่งนอกจากจะขัดต่อหลักการทางเศรษฐกิจเสรีแล้ว ยังจะขัดขวางความพยายามในการลดคาร์บอนทั่วโลก
ประการสำคัญ ก็คือ หากกล่าวหาว่า จีนผลิตแล้วทำขยะล้นโลก การผลิตในประเทศอื่นที่มีประสิทธิภาพต่ำ และไม่ใส่กับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงจะไม่สร้างปัญหาที่หนักกว่าอีกหรือ
ตลอดหลายปีหลัง ผมสังเกตว่า จีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตคุณภาพสูงที่มุ่ง “ลดขยะ” ควบคู่ไปกับการพยายามคิดค้นนวัตกรรมการกำจัดขยะที่ล้ำสมัยมาอย่างต่อเนื่อง
จีนตระหนักดีว่า ด้วยจำนวนประชากรมหาศาล การขยายตัวของชุมชนเมือง และการเติบใหญ่ของภาคการผลิต รวมทั้งการสร้างความกระชุ่มกระชวยสู่ชนบท จีนต้องเผชิญปัญหาด้านขยะครัวเรือน ขยะอุตสาหกรรม ขยะเกษตรกรรม และขยะอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
รายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ปริมาณขยะในเขตชุมชนเมืองของจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของสหรัฐฯ ภายในปี 2030 เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นจีนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของขยะครัวเรือน จีนได้ริเริ่มแผนการคัดแยกขยะครั้งแรก นับแต่เดือนมีนาคม 2017 โดยมุ่งเป้าไปที่การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) 35% ของปริมาณขยะใน 46 เมืองใหญ่
หลังจากนั้น จีนก็เริ่มโครงการนำร่อง “เมืองปลอดขยะ” โดยในปี 2018 หัวเมืองใหญ่และพื้นที่พิเศษ เช่น เซินเจิ้น และ เขตใหม่สวงอัน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทดสอบโครงการอย่างแข็งขัน และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
ในเดือนกรกฎาคม 2019 เซี่ยงไฮ้ กลายเป็นเมืองแรกของจีนที่นำร่อง “มาตรการบังคับ” การคัดแยกขยะ และตามมาด้วยการตรากฎหมายขยะฉบับแก้ไขซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2020 ที่เสริมสร้างความรับผิดชอบในการกํากับดูแลและการจัดการของรัฐบาล และกําหนดภาระผูกพันกับแหล่งกําเนิดขยะ
กฎหมายฉบับใหม่นี้ ยังมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้ และการนำเอานวัตกรรมมาช่วยเสริมการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสูง และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้าง “จีนที่สวยงาม”
สำหรับผมแล้ว การริเริ่มดังกล่าว นับว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การคัดแยกขยะ เป็นข้อบังคับในหลายหัวเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งนําไปสู่การลดปริมาณขยะ ที่จัดส่งไปยังเตาเผาขยะ หรือ หลุมฝังกลบลงอย่างมาก
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) จีนมีแผนขยายการดำเนินงานตามแนวคิดดังกล่าวไปยัง 113 เมือง และพื้นที่พิเศษ 8 แห่งทั่วจีน โดยตั้งเป้าการนําขยะกลับมาใช้ใหม่ที่ 60% ภายในปี 2025
อันที่จริง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 กรุงปักกิ่งก็ได้เริ่มบังคับใช้ระบบการแยกขยะเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คล้ายคลึงกับของเมืองอื่น ที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ เซี่ยงไฮ้ และ เซินเจิ้น
ขณะเดียวกัน ปักกิ่งยังได้นําเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบการจดจำใบหน้ามาใช้ในระบบการจัดการขยะและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในหลายส่วน
ในส่วนของการจัดการขยะ จีนได้ริเริ่มโครงการนําร่องถังขยะอัจฉริยะ ซึ่งดําเนินการมานับแต่ปี 2019 โดยขึ้นทะเบียนพร้อมภาพถ่ายผู้อยู่อาศัยที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อผู้อยู่อาศัยทิ้งขยะ ถังขยะจะสแกนใบหน้าเพื่อระบุตัวตนโดยอัตโนมัติ
เมื่อถังขยะตระหนักว่า ผู้ใช้เป็นผู้อยู่อาศัย ฝาจะถูกเปิดออก และถังขยะรีไซเคิลจะถูกชั่งน้ำหนัก ถุงขยะที่มีคิวอาร์โค้ดช่วยให้มั่นใจได้ว่า ขยะถูกทิ้งลงในถังขยะที่ถูกต้อง ผู้อยู่อาศัยที่ทิ้งขยะได้อย่างถูกต้องจะได้รับแต้มสะสม เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น การแลกซื้อสินค้าและของใช้จำเป็น
ถังขยะอัจฉริยะในแต่ละจุดยังถูกติดตั้งระบบดิจิตัล ที่สื่อสารแจ้งข้อมูลสำคัญไปยังศูนย์ควบคุม เช่น ถังขยะเต็ม และ ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ได้เสริมสร้างความมั่นใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประกาศขยายการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวออกไปทั่วประเทศในระยะยาว
ในส่วนของการสร้างระบบรีไซเคิลขยะ จีนก็พยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การอนุรักษ์ทรัพยากรที่กว้างขึ้นของจีน เพื่อทําหน้าที่เป็นรากฐานที่สําคัญในการปกป้องความมั่นคงด้านทรัพยากร ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยจีนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบรีไซเคิลขยะ ที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานระดับโลก เพิ่มมูลค่าทรัพยากรขยะสูงสุด และขยายสัดส่วนของวัสดุหมุนเวียนในการจัดหาวัตถุดิบ
เราจึงเห็นจีนตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายการรีไซเคิลขยะ ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขา รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากขยะจํานวน 4,000 ล้านตันต่อปี และการใช้ประโยชน์ในอัตราถึง 60% ของปริมาณขยะใหม่ ภายในปี 2025 เช่น เป้าหมายเศษเหล็ก 320 ล้านตัน เศษโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก 20 ล้านตัน และ เศษกระดาษ 60 ล้านตัน
ในส่วนการจัดการขยะอุตสาหกรรม ภายหลังความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์รวมของขยะอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นกว่า 70% เมื่อปี 2020 จีนยังเดินหน้าหลายมาตรการในเชิงลึก
อาทิ การส่งเสริมการจําแนกประเภท และการจัดเก็บขยะอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันการปะปน การอํานวยความสะดวกในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การสนับสนุนการทําแผนที่ที่ครอบคลุม และการแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะอุตสาหกรรม
จีนยังเรียกร้องให้องค์กรจัดเก็บขนาดใหญ่ เพิ่มระดับการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาสวนรีไซเคิล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรที่สร้างขยะ และที่ใช้ประโยชน์จากขยะอุตสาหกรรม อาทิ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว และการสร้างตลาดรีไซเคิลขยะ รวมทั้งปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวกในการบําบัดน้ำเสียอุตสาหกรรม และของเสียอันตราย
พอพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ทำให้ผมอดหวนนึกถึงปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่เป็น “สารอันตราย” ของไทยไม่ได้ เพราะดูเหมือนปัญหาจะมิได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมให้ “สะเด็ดน้ำ” จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่นาน และท้ายที่สุดก็อาจถูก “กวาดเข้าใต้พรม” เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนหลายๆ ปัญหาใหญ่ของไทย ที่มิได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เฮ้อ ...
ตอนหน้าผมจะยกตัวอย่างการจัดการกับปัญหาขยะอุตสาหกรรม และบทสรุปของการยกระดับการผลิตของจีนสู่ “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่” กันครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน