สนามบินผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสาร T3 ล้ำสมัย (1)

11 ส.ค. 2567 | 23:30 น.

สนามบินผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสาร T3 ล้ำสมัย (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4017

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาสนามบินตามหัวเมืองของจีน ที่กระจายจตัวแทบทั่วทุกหัวระแหง วันนี้ เราจะไปคุยกันถึงพัฒนาการของสนามบินในเซี่ยงไฮ้ และสิ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กันครับ ...

ในยุคแรกๆ เราอาจพอสังเกตเห็นการเลียนลัด “งานออกแบบ” ระหว่างกันจนบางครั้งเกิดความสับสนเหมือน “เดอจาวู” ว่าคล้ายกับได้เคยบินผ่านสนามบินเหล่านั้นมาก่อน 

ขณะเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “อุปทานรออุปสงค์” รัฐบาลจีนก็เดินหน้าก่อสร้างสนามบินใหม่ และปรับปรุงสนามบินที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน จีนมีสนามบินพาณิชย์เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปและเพื่อการขนส่งสินค้าน้อยใหญ่ทั่วประเทศกว่า 260 แห่ง และ 400 แห่ง ตามลำดับที่กระจายตัวจากเมืองหลักไปยังเมืองรอง และจากด้านซีกตะวันออก ไปสู่ตอนกลางและซีกตะวันตกของจีน 

นอกจากจำนวนและการกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์แล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับขนาด และคุณภาพของสนามบิน อาทิ การออกแบบที่ดูโมเดิร์นขึ้นโดยลำดับ คุณภาพวัสดุที่ดีเยี่ยม และความล้ำสมัยของสิ่งอำนวยความสะดวกภายในและที่เชื่อมต่อกับสนามบินอีกด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น สนามบินต้าซิง (Daxing) ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ที่เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2019 แต่เสียดายที่จีนเผชิญกับวิกฤติโควิดอยู่ราว 3 ปี ทำให้สนามบินแห่งนี้ยังไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่

สนามบินแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่สุดในโลกที่ถูกออกแบบให้เป็นสนามบินหลักรองรับพื้นที่แถบ “จิง-จิน-จี้” (ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย) ในบริเวณ “คอไก่” ของจีน 

ความใหญ่ดังกล่าวสามารถยืนยันผ่านหลังคาเหล็กของอาคารผู้โดยสารขนาด 180,000 ตารางเมตร และพื้นลานคอนกรีตที่เป็นชิ้นเดียวกันขนาดเกือบ 250,000 ตารางเมตร หรือราว 35 สนามฟุตบอลมาตรฐาน 

ขณะเดียวกัน สนามบินหลายแห่งของจีนยังลงทุนว่าจ้างนักออกแบบระดับโลกเข้ามาช่วยงาน ส่งผลให้สนามบินในหัวเมืองใหญ่ต่างถูกออกแบบอย่างงดงาม พร้อมติดตั้งนวัตกรรมอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย อาทิ ยานยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบการจดจำใบไหน้า จนหลายคนอด “ว้าว” ไม่ได้

มองออกไปในอนาคต สนามบินในจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไป เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในยุคหลังโควิด และหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ สนามบินในนครเซี่ยงไฮ้ที่เป็น “ต้นแบบ” ของการพัฒนาให้เมืองอื่นๆ เจริญรอยตาม 

กล่าวคือ เซี่ยงไฮ้ถือเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญของจีน ซึ่งมี 2 สนามบินหลักเปิดให้บริการอยู่ อันได้แก่ สนามบินนานาชาติหงเฉียว (Hongqiao) สนามบินดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกของเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ Shanghai Airport (Group) Co Ltd ที่เพิ่งฉลองครบรอบ 103 ปีของการก่อตั้งเป็นเวลา 2 เดือนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา 

ท่านผู้อ่านที่ไปเยือนเซี่ยงไฮ้ก่อนปี 2000 ล้วนต้องผ่านประสบการณ์การใช้บริการสนามบินหงเฉียว แม้ว่ารัฐบาลเซี่ยงไฮ้พยายามปรับปรุงสนามบินแห่งนี้ มาเป็นระยะนับแต่ต้นทศวรรษ 1990 แต่ก็ไม่อาจขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ให้เพียงพอต่อความต้องการหรือให้ดูทันสมัยสมกับนครเซี่ยงไฮ้ได้

อย่างไรก็ดี ราว 2 ทศวรรษต่อมา สนามบินแห่งนี้ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ โดยต่อยอดเป็น “ศูนย์ลอจิสติกส์ครบวงจร” ที่รวบรวมหลากหลายรูปแบบการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้โถงอาคารที่เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง และเครื่องบิน 

ภายหลังเปิดให้บริการในปลายทศวรรษ 2010 ศูนย์ฯ ช่วยรับและกระจายผู้โดยสารและสินค้าสู่พื้นที่ตอนในของจีน และรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและภูมิภาคเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเซียตะวันออก

อีกแห่งหนึ่งที่เราจะติดตามดูการพัฒนาระยะใหม่ก็ได้แก่ สนามบินนานาชาติผู่ตง (Pudong) ที่คนไทยที่แวะเวียนไปเยือนเซี่ยงไฮ้ในอดีตเรียกว่าสนามบิน “ปูดอง” ก็มี 

                    สนามบินผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ทุ่มเงินสร้างอาคารผู้โดยสาร T3 ล้ำสมัย (1)

ด้วยข้อจำกัดในเรื่องขนาดพื้นที่ของสนามบินหงเฉียวดังกล่าว ในปลายปี 1997 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ จึงตัดสินใจลงทุนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งห่างจากใจกลางเมืองไปด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือราว 30 กิโลเมตร 

สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง สายน้ำที่มีระยะทางยาวที่สุดของจีนและเป็นอันดับ 3 ของโลก หากท่านต้องการเห็น “ความยิ่งใหญ่” ของปากแม่น้ำแยงซีเกียง ผมแนะนำให้เลือกที่นั่งริมหน้าต่าง และจับจ้องมองออกไปนอกหน้าต่างขณะเครื่องขึ้นลง รับรองว่าท่านจะตื่นตะลึงกับวิวทิวทัศน์ดังกล่าว

ด้วย “ความเร็วของจีน” (China Speed) สนามบินผู่ตงระยะที่ 1 “เฟสแรก” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการgเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1999 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันชาติจีน โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเพียง 2 ปี

หลังจากนั้น ทางการจีนก็เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เช่น รันเวย์ ลานบิน และหอควบคุม ควบคู่ไปกับการพัฒนาสนามบินครั้งใหญ่เฉลี่ยทุก 10 ปี เรียกว่า “เปลี่ยนเล็กเกือบทุกปี เปลี่ยนใหญ่ทุก 10 ปี” 

เซี่ยงไฮ้พัฒนาสนามบินระยะที่ 2 และเปิดให้บริการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2008 ทันรองรับผู้ใช้บริการที่แวะเวียนไปร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง (Beijing 2008) และงานนิทรรศการโลก 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ (Shanghai World Expo 2010)

ในปี 2021 เซี่ยงไฮ้ยังขยายสนามบินระยะที่ 3 ผ่านการเปิดอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยาย (Satellite Terminal) รูปตัว H ที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารที่ 1 และ 2 ในระยะทาง 7.8 กิโลเมตรด้วยรถไฟใต้ดิน คล้ายกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการเมื่อเร็วๆ นี้ 

อาคารส่วนต่อขยายดังกล่าวมีขนาดถึง 622,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าขนาดพื้นที่ของ T2 เสียอีก และถือเป็นส่วนต่อขยายที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 60 ล้าน เป็น 80 ล้านคน และสินค้าปริมาณ 6 ล้านตันต่อปี

ปัจจุบัน สนามบินผู่ตงนับเป็นศูนย์กลางการบินที่รับส่งผู้โดยสารและสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศอันดับต้นๆ ของจีน และติด 10 อันดับแรกของโลก เที่ยวบินระหว่างไทย-เซี่ยงไฮ้ ก็ใช้บริการสนามบินแห่งนี้เป็นหลักเช่นกัน

ภายหลังการพัฒนาสนามบินผู่ตงหลายระลอก และยกเครื่องสนามบินหงเฉียวครั้งใหญ่ดังกล่าว ผมเคยคิดว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้คงจะ “ผ่อนคันเร่ง” กับการพัฒนาสนามบินผู่ตงแล้ว แต่ผมคิดผิดถนัด 

ผมประเมินผิดอย่างไรไปติดตามกันต่อในตอนหน้าครับ ...