ผมเชื่อว่า FC ของผมคงเคยชมภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เกี่ยวกับ “เรือดำน้ำ” มาไม่มากก็น้อย ซึ่งภาพยนตร์เหล่านั้นมักไม่มีเรือดำน้ำของจีน “เข้าฉาก” แต่อย่างใด เหตุผลสำคัญก็เพราะในอดีตจีนยังไม่มีเทคโนโลยีที่สูงมากพอสำหรับการก่อสร้างเรือดำน้ำ
ความเป็นเจ้าแห่งท้องทะเลลึกอยู่ในมือของ 2 มหาอำนาจทางการทหารเดิมอย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเป็นหลัก แต่เพียง 45 ปี หลังจีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอก ภาพดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะจีนกำลัง “ก้าวกระโดด” ขึ้นเป็นผู้นำโลกแห่งการสำรวจทรัพยากร และทำเหมืองในท้องทะเลลึกกันแล้ว
จีนกำลังทำอะไรอยู่ ทำได้อย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นในเวทีใต้มหาสมุทรในอนาคต ...
โลกของเราปกคลุมด้วยน้ำราว 70% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ อาจกล่าวได้ว่า พื้นผิวของโลกประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดิน 1 ส่วน และพื้นน้ำ 3 ส่วน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นน้ำเค็มที่อยู่ในมหาสมุทรถึงราว97.5% ของทั้งหมด
ประการสำคัญ ลึกลงไปที่ก้นบึ้งของมหาสมุทรกลับเต็มไปด้วยหินก้อนน้อยใหญ่ที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุทางธรรมชาติ อาทิ นิกเกิล แมงกานีส โคบอลต์ และ ทองแดง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าสำคัญมากมายในปัจจุบัน อาทิ แบตเตอรี่พลังงานสะอาด และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาจเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตวัสดุใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ ใต้ท้องทะเลลึกยังอุดมไปด้วยแร่เงิน และทองคําที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษหลัง ซึ่งอาจกลายเป็น “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ใหม่ที่เพิ่มความมั่งคั่งและอาจหมายรวมถึงการเพิ่ม “อํานาจทางทะเล” แก่ประเทศที่เกี่ยวข้อง
ผมมีข้อสังเกตว่า มหาอำนาจเดิมทุ่มเททรัพยากรในการแข่งขันทางอวกาศระหว่างกันในช่วงหลายทศวรรษหลัง แต่กลับมองข้ามทรัพยากรที่มากคุณค่าใต้ท้องทะเล หรือ อาจตระหนักถึงประโยชน์และศักยภาพที่ซ่อนอยู่น้อยเกินไป
ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเพราะมหาอำนาจเหล่านั้น ยังขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและโนวฮาว และเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับสำรวจ ขุดเจาะ และอื่นๆ ที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือดำน้ำที่ใช้ในการสำรวจท้องทะเลลึก ส่งผลให้การเข้าถึงและนำเอาแร่ธรรมชาติเหล่านั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์มีค่าใช้จ่ายสูง อาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนครองการขุดและแปรรูปแร่ธาตุทางธรรมชาติ ที่อยู่เหนือพื้นน้ำเหนือหลายประเทศในโลก แต่โลกจะ “หิวโหย” โลหะหายากเพื่อเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต
กอปรกับศักยภาพแหล่งทรัพยากรใต้ทะเลที่ซ่อนอยู่ในปริมาณมหาศาล จีนจึงพยายามมองหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ และ “ท้องทะเลลึก” เป็นหนึ่งในคำตอบ ...
รายงานของธนาคารโลกฉบับหนึ่งคาดการณ์ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ จะสามารถลดความต้องการขุดแร่ธรรมชาติใหม่ภายในปี 2050 ได้ในระดับหนึ่ง อาทิ ลิเธียม และทองแดงราว 26% นิกเกิล 23% และ โคบอลต์ 15%
แต่หากต้องการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Paris
Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตลิเธียมและโคบอลต์ของโลก จะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าตัวภายในปี 2050
โดยถึงตอนนั้น ปริมาณความต้องการโคบอลต์ นิกเกิล และแร่สำคัญอื่นทั่วโลก จะพุ่งสูงขึ้นเป็นมากกว่าปริมาณแร่ที่มีอยู่บนบกถึงราว 4 เท่า!!!
รายงานดังกล่าวสร้างตื่นตะลึงอย่างมาก เพราะผู้คนต่างคิดต่อได้ว่า หากไม่มีแหล่งทรัพยากรใหม่ การขาดแคลนแร่ธรรมชาติดังกล่าวอาจทําให้การปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดช้าลง หลายประเทศจึงหันไปมองหาแหล่งแร่ธาตุทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ใต้ท้องทะเลลึก
นอกจากในเชิงปริมาณทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลลึก ยังมีคุณภาพสูง ยกตัวอย่างเช่น แร่เทลเลอเรียม (Tellurium) ที่ใช้ในแผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง มีความเข้มข้นในท้องทะเลมากกว่าบนบกถึง 50,000 เท่า
อันที่จริง รัฐบาลจีนได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้ มาเป็นเวลานานและได้กำหนดนโยบาย “เศรษฐกิจสีคราม” (Blue Economy) ครั้งแรกเมื่อปี 2011 โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มสมรรถนะของประเทศในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรในท้องทะเล
หลังจากนั้น เราก็เห็นจีนเดินหน้าผลักดันการพัฒนาทั้งระบบนิเวศอย่างจริงจัง ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อการทำเหมืองใต้ท้องทะเลลึก
ในการนี้ จีนทุ่มเทกับการพัฒนาเรือดำน้ำ เพื่อการสำรวจท้องทะเลลึก อาจกล่าวได้ว่า จีนเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีเรือดำน้ำจากรัสเซีย และหลายประเทศอื่น และทุ่มเทวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถต่อยอดจนรุดหน้าและกลายเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในการแข่งขันระดับโลกในระยะหลัง
ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยเรือ “เค่อเสวีย” (Kexue) ออกสำรวจน่านน้ำลึกในปี 2019 และเมื่อปลายปี 2022 จีนได้เปิดเผยโฉมเรือขุดเจาะสมุทรศาสตร์ลําแรกของจีน ณ ท่าเรือในเขตหนานซา (Nansha) มณฑลกวางตุ้ง บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) เรือลำนี้สามารถขุดได้ลึกได้ถึง 10,000 เมตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่าง “ก้าวกระโดด” อีกครั้งของจีน
ต่อมา จีนยังปล่อยเรือ “ต้าหยางฮ่าว” (Dayang Hao) เรือสำรวจน้ำลึกขนาด 5,100 ตันที่ทันสมัยที่สุดของจีน ออกจากท่าเรือทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้
ล่าสุด เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2024 จีนยังประสบความสำเร็จในการใช้เรือดำน้ำลึกที่มีคนขับ “เจียวหลง” (Jiaolong) ปฏิบัติภารกิจครั้งที่ 300 เป็นที่เรียบร้อย
นับแต่ภารกิจครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2009 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ปฏิบัติการครั้งล่าสุดซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ 1 คน และผู้คุมเรือ 2 คนดําน้ำสำรวจทางวิทยาศาสตร์พื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เป็นครั้งแรกจากจำนวน 18 ครั้งที่วางแผนไว้
ภารกิจครั้งนี้ครอบคลุมถึงการสำรวจระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเขาใต้ทะเล และการรวบรวมสิ่งมีชีวิตในทะเลลึก น้ำทะเล และตะกอน
จากข้อมูลของโครงการระบุว่า นับแต่ปี 2009 เจียวหลงได้สำรวจทะเลลึกในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติกรวมทั้งสิ้นกว่า 900 ครั้ง โดยทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในโครงการมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ชาว จีน และชาวต่างชาติ
นอกจากเรือสำรวจท้องทะเลลึกแล้ว จีนพัฒนาเครื่องจักรเครื่องมืออะไรอีกบ้าง และต้องเผชิญกับความท้าทายอะไร อย่างไรบ้างเรายกยอดไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน