นอกจากนวัตกรรมอาคารที่หายใจได้ อย่างโครงการต้นไม้พันต้นในเซี่ยงไฮ้ และ บ้านฉงชิ่งใ นมหานครด้านซีกตะวันตกของจีนแล้ว เมืองอื่นในจีนมีโครงการอาคารสีเขียวอะไรอีกบ้าง เราไปคุยกันต่อเลยครับ ...
ในช่วงหลายปีหลังการก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ ในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารพาณิชย์ ได้รับการสนับสนุนให้ใช้กลไก และวัสดุคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่องและประหยัดพลังงานมากขึ้น จีนยังพยายามงัดเอานวัตกรรมอื่นมาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์
หนึ่งในนั้นได้แก่ ระบบทำความเย็นแบบเขต (District Cooling System) ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในหัวเมืองใหญ่ในจีน อาทิ ในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ กวางโจว และ เซินเจิ้น เมืองเศรษฐกิจหลักของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และระบายความร้อนด้วยการใช้ประโยชน์จากการไหลเวียนของน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ
ในสถานี DCS อาคารจะติดตั้งถังขนาดใหญ่ ที่สามารถเก็บและผลิตน้ำแข็ง เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานความร้อนที่มีต้นทุนสูง และมลพิษในชั่วโมงเร่งด่วนของการใช้ไฟฟ้า และยังเป็นการใช้พลังงานส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแดดและลมในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน ระบบทําความเย็นแบบรวมศูนย์เช่นนี้ ยังสามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศขนาดเล็กจํานวนมากในชุมชนเมือง ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองและบรรเทาผลกระทบจากคลื่นความร้อนได้ถึง 20-30% ไปพร้อมกัน
หลายฝ่ายยอมรับว่า ความสำเร็จในหลายสิ่งในจีนมักมี “กลไกภาครัฐ” อยู่เบื้องหลัง กรณีโครงการอาคารสีเขียวก็ไม่ได้รับการยกเว้น โดยรัฐบาลจีนเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมโครงการอาคารสีเขียวอย่างรอบด้าน
เราต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบัน จีนมีระดับของการเป็นชุมชนเมืองกว่า 60% และคาดว่าจำนวนประชากรจีนกว่า 1,000 ล้านคน จะเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองภายในปี 2030 นี่ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วน แล้วจีนทำอะไร อย่างไรบ้างเพื่อให้โครงการอาคารสีเขียวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ...
อย่างที่ผมเกริ่นไปเมื่อคราวก่อนว่า รัฐบาลจีนกำหนดเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ ดังปรากฏในแผนพัฒนา 5 ปีหลายฉบับมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ การกำหนดการลดพลังงานเป้าหมายให้อยู่ที่ 60-65% ในปี 2030 และอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องเป็นอาคารสีเขียว
ในด้านหนึ่ง จีนกำหนดเงื่อนไข มาตรฐาน และ การรับรองอาคารสีเขียวอย่างจริงจัง อาทิ การออกกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation Law) และกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานของอาคารที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ กระทรวงการเคหะฯ ยังเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำและดำเนินการตามแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและอาคารสีเขียว
เรายังเห็นศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน (China’s Center of Science and Technology and Industrialization Development) ลงนามบันทึกความเข้าใจในการพัฒนาความร่วมมือกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) เพื่อช่วยปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนอาคารสีเขียวในจีน ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและน้ำ และขยายงานต่อไปกระตุ้นการพัฒนาโรงแรมสีเขียวในจีนอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2024 จีนโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) หรือ “สภาพัฒน์ของจีน” ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอีกหลายแห่ง เปิดตัว “แคตตาล็อกอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียวและคาร์บอนต่ำปี 2024”
แคตตาล็อกอุตสาหกรรมสีเขียวปี 2024 ถือเป็นเอกสารอ้างอิงสำคัญสำหรับหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของภาคส่วนสีเขียวในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการจัดสรรทรัพยากร เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วจีน
แคตตาล็อกฯ ปี 2024 ต่อยอดจากเวอร์ชั่นปี 2019 โดยขยายกรอบไปยังอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ในด้านลอจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ พลังงานไฮโดรเจน ที่รวมไปถึงการผลิตอุปกรณ์สำหรับการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง และการใช้พลังงานไฮโดรเจรแลลครบวงจร
นอกจากนี้ แคตตาล็อกฯ ปี 2024 ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคส่วน “การเงินสีเขียว” ของจีน ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยที่จีนกำลังเร่งดำเนินการเพื่อจำกัดการใช้ถ่านหิน โอกาสในการลงทุนเชิงกลยุทธ์จึงเกิดขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและภาคพลังงานสะอาด อาทิ การผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าการเงินสีเขียวจะมีบทบาทสําคัญเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้
แค็ตตาล็อกฯ ปี 2024 จึงครอบคลุมถึงการให้คำแนะนำแก่สถาบันการเงินในการอำนวยความสะดวกให้กับเครื่องมือทางการเงิน โดยมีหลักเกณฑ์และแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น พันธบัตรสีเขียว (Green Bond) เครดิตสีเขียว และ กองทุนสีเขียว เพื่อพัฒนาสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในจีน
เครื่องมือทางการเงินสีเขียวเหล่านี้ในจีน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนส่งเสริมอาคารสีเขียวในอีกทางหนึ่ง
ในด้านวัสดุสีเขียว จีนโดยกระทรวงการเคหะฯ ก็ดำเนินการส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยกำหนดผลิตภัณฑ์กว่า 50 ประเภทในขอบเขตของการรับรองผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสีเขียว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2022
เพียงราวครึ่งปีต่อมา กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ประกาศขยายขอบเขตการดําเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างสีเขียวของรัฐบาล เพื่อปรับปรุงคุณภาพอาคารในมหานครและ 6 เมืองนำร่อง
ในเดือนพฤศจิกายน 2022 การดำเนินงานยังได้ขยายไปยัง 48 เมือง โดยมุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสํานักงาน ห้องโถงนิทรรศการ ศูนย์การประชุม สนามกีฬา ที่อยู่อาศัย และ โครงการจัดซื้อจัดจ้างอื่นของรัฐบาล
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างประเมิน อาคารสีเขียวหลายประเภทมีศักยภาพที่จะเติบโตแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล และ โรงเรียนของรัฐในจีน
เงื่อนไขหลักเกณฑ์และกฎระเบียบเกี่ยวกับอาคารสีเขียว ที่กำหนดขึ้นมากมายดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างไร และจีนแก้ไขปัญหาอย่างไร ไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...