เมื่อมังกรทำเหมืองใต้ทะเลลึกสร้างความมั่งคั่งใหม่ (จบ)

18 ก.ย. 2567 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 06:47 น.

เมื่อมังกรทำเหมืองใต้ทะเลลึกสร้างความมั่งคั่งใหม่ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4028

เราไปคุยกันต่อเลยครับ ... 

เมื่อเร็วๆ นี้ จีนยังได้เผยโฉม "ไพโอเนียร์ 2” (Pioneer II) ยานพาหนะทําเหมืองในทะเลลึก (Deep-Sea Mining) ที่ต้นแบบถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเจียวทง (Jiao Tong) ที่เราเรียกกันติดปากว่า “เจียวต้า” ในนครเซี่ยงไฮ้ 

โดยที่ผ่านมา “ไพโอเนียร์ 2” ที่มีน้ำหนัก 14 ตัน ได้ดําดิ่งลงสำรวจและทําเหมืองก้นทะเลแล้ว 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกเป็นการปฏิบัติภารกิจ ณ ระดับความลึกราว 2,000 เมตร 

และครั้งล่าสุดก็เป็นการทดลองใช้ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ระดับความลึกกว่า 4,100 เมตร สร้างสถิติยานพาหนะทําเหมืองในทะเลที่ระดับความลึกเกิน 4,000 เมตรเป็นครั้งแรก

ปฏิบัติการครั้งหลังสุดยังสร้างหน้าประวัติศาสตร์การสำรวจและขุดเจาะแร่ในทะเลลึกอีกหลายประการ อาทิ การขุดแร่ธาตุทางธรรมชาติหลากหลายประเภทรวมกว่า 200 กิโลกรัม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการคัดแยกเปลือกโลหะหลายชนิด ที่ติดอยู่กับหินแข็งและก้อนโลหะที่ซ่อนตัวอยู่ในตะกอนทะเลลึก

สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงความรุดหน้าครั้งสําคัญในด้านเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติในทะเลลึกของจีน ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรือสำรวจใต้ท้องทะเลลึกเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน อาทิ ระบบการนําทาง และการขุดเจาะแร่ในทะเลลึกที่ซับซ้อน

และโดยที่ทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลส่วนใหญ่ อยู่ที่ระดับความลึก 2,000-6,000 เมตร จีนจึงยังคงมีภารกิจของการพัฒนาพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์การขุด ที่มีคุณสมบัติของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายอื่นในอีกหลายส่วน

อาทิ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งแร่ที่สําคัญในทะเลลึก และการศึกษาถึงผลกระทบของ DSM ต่อระบบนิเวศโดยรวม ทำให้การทำเหมืองในทะเลลึก เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงในการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นหลังนี้กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ในปัจจุบันและจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต

ในปัจจุบัน DSM ถูกกำกับควบคุมด้วยมาตรฐานโดยสมัครใจที่ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดแต่อย่างใด ดังนั้น ความเป็นผู้นำของจีนในเรื่องนี้อาจทำให้รัฐบาลจีนช่วงชิงจังหวะโอกาสในการกําหนด “บรรทัดฐาน” ของอุตสาหกรรม DSM 

และอาจทำให้มาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ครอบคลุมรอบด้านหรือไม่ผ่านฉันทามติระหว่างประเทศ สิ่งนี้ทำให้บางประเทศเริ่มตั้งข้อสังเกตและจับตามองว่า จีนกําลังวางรากฐานของระเบียบสังคม DSM ระหว่างประเทศอย่างเงียบๆ

สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ จีนมีกลไกรัฐวิสาหกิจและเอกชนในเครือข่ายจำนวนมากอยู่ในมือ ที่สามารถผลักดันการลงทุนใน DSM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่นานาประเทศอาจประสบปัญหาและความท้าทายด้านการระดมทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยง แต่จีนพร้อม “กล้าได้ กล้าเสีย” 

ดังจะเห็นได้ว่า กลุ่มธุรกิจเครือจินหาง (Jinhang Group) สามารถระดมทุนจํานวน 20 ล้านหยวนได้ในชั่วกระพริบตา พร้อมทั้งยังลงนามในสัญญาหลายชุด เพื่อร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ทําเหมืองในทะเลลึกเชิงพาณิชย์ตัวแรกของจีน และระบบควบคุมการขุดอัจฉริยะภายในปี 2025

อีกประการหนึ่งก็คือ ข้อมูลขององค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority) ที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) สะท้อนความท้าทายที่รออยู่หลายประการ

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน จีนถือครองใบอนุญาตการสํารวจท้องทะเลลึกจำนวน 5 ใน 30 ฉบับ ซึ่งนับว่ามากกว่าประเทศใดๆ ในโลก โดยมีรัสเซีย และ เกาหลีใต้ ตามมาด้วยจำนวน 3 ฉบับ 

เรากำลังพูดถึงการได้รับสิทธิพิเศษของจีนใน DSM ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุทางธรรมชาติ บนพื้นที่ 238,000 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดเกือบเท่าสหราชอาณาจักร หรือ ประมาณ 17% ของพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตจาก ISA ในปัจจุบัน

นอกเหนือจาก DSM จีนยังจะสามารถใช้จังหวะโอกาสนี้ ในการศึกษาวิจัยมากมายผ่านการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และ สิ่งมีชีวิตในทะเลลึกซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ ในอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า จีนมีความพร้อมสําหรับ DSM ภายในปี 2025 นี่แล้ว

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ กลับไม่ได้ให้สัตยาบันภายใต้ UNCLOS จึงไม่ได้มีส่วนร่วม หรือ มีสิทธิ์มีเสียงใน ISA ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถกําหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม หรือ มาตรฐานอื่นๆ ได้ รวมทั้งอาจไม่ได้อยู่ในภาพของการแข่งขันใน DSM ในเวทีระหว่างประเทศแต่อย่างใด

แต่ใช่ว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะยอมรับในสถานะดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ สหรัฐฯ ได้พยายาม “พลิกเกม” โดยการสร้างเวทีใหม่ในเรื่องนี้ อาทิ การเป็นพันธมิตรสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนโลก (Partnership for Global Infrastructure and Investment) กับพันธมิตรกลุ่ม G7 เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาด 

แถมยังขยายต่อไปยังการลงนามใน “การเป็นพันธมิตรความมั่นคงด้านแร่ธาตุ” (Minerals Security Partnership) และการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการขยายการขุดและการแปรรูปแร่และแร่หายากวงเงิน 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

                       เมื่อมังกรทำเหมืองใต้ทะเลลึกสร้างความมั่งคั่งใหม่ (จบ)

แม้ว่ากองทุนดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมการสำรวจและทำเหมืองในทะเลลึก แต่การขยับตัวของสหรัฐฯ ดังกล่าวก็ทำให้การประชุมสมัชชา ISA ครั้งที่ 28 เมื่อกลางปี 2023 เกิดกระแสความขัดแย้งในวงกว้างจนไม่อาจหาข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนา DSM โดยรวมได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการออกใบอนุญาตและข้อกำหนดทางเทคนิคสําหรับการใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุในท้องทะเลลึก

แม้ว่าการประชุมครั้งที่ 29 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมต่อต้นเดือนสิงหาคม 2024 จะคลี่คลายและมีข้อสรุปที่ขยับจากจุดเดิม แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยคาดว่าที่ประชุมจะต้องใช้เวลาอีกหลายรอบในอนาคต

เพราะในด้านหนึ่ง DSM อาจเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานและการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมทั้งการแสวงหาแหล่งแร่ธาตุใหม่จำนวนมหาศาลสำหรับโลกอนาคต 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง DSM ก็ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่แตกต่าง หรือ อาจรุนแรงมากกว่าการทำเหมืองแร่บนบก ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ที่นำไปสู่ข้อกังวลใจจากการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 5,000 ชนิดในมหาสมุทรแปซิฟิก

เท่ากับว่าอุตสาหกรรมฯ ยังต้องการการจัดระเบียบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลระดับโลก ความโปร่งใสที่มีมาตรฐานสามารถช่วยรับรองการทําเหมือง อย่างมีความรับผิดชอบเพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล ส่งเสริมความปลอดภัยของคนงาน และปกป้องชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

ในสภานการณ์เช่นนี้ ประเทศที่ขาดความพร้อมและเทคโนโลยี รวมทั้งไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงอาจใช้ประเด็นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวปลุกกระแสต่อต้านการทำ DSM และอาจทำให้การพัฒนาหยุดชะงักลง

เรากำลังพูดถึง การเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ของจีนต่อความท้าทายจากผู้เล่นเบอร์ใหญ่อย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี และ ฝรั่งเศส รวมทั้งเสียงที่กระจัดกระจายจากประเทศกําลังพัฒนา ชุมชนวิทยาศาสตร์ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 

“ในดำมีขาว ในขาวมีดำ” โลกจึงควรชั่งใจดูก่อนว่า ควรจะจัดระเบียบสังคมโลกในเรื่องนี้อย่างไร ...