จีนไม่หยุดทำสถิติเปิดตัวเรือคอนเทนเนอร์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก

21 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

จีนไม่หยุดทำสถิติเปิดตัวเรือคอนเทนเนอร์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4029

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนถือเป็นชาติที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดในโลก โดยทำลายสถิติใหม่ในหลายด้าน จนไม่อาจจดจำได้หมด โดยเฉพาะยอดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไร้คนขับ รถไฟความเร็วสูง รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ แม้กระทั่งโดรน

เรือนับเป็นอีกหนึ่งพาหนะที่จีนให้ความสำคัญในการพัฒนา และเราอาจได้ยินข่าวการเปิดตัว “เรือไฟฟ้า” (e-Ship) รุ่นใหม่มาเป็นระยะ 

และเมื่อราวเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนได้สร้าง “ความว้าว” อีกครั้งด้วยการเปิดตัวเรือคอนเทนเนอร์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่ “ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยมีความจุแบตเตอรี่ถึง 50,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ...

เรือชุดนี้มี 2 ลำ ชื่อว่า “Green Water 01” และ “Green Water 02” (แต่ทาสีน้ำเงิน-ขาว) ที่มีความยาว 120 เมตร ความกว้าง 24 เมตร และกินน้ำลึก 9 เมตร โดยเป็นเรือไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีระวางบรรทุกมากกว่า 10,000 ตัน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนในปัจจุบัน 

ในเชิงธุรกิจ Shanghai Pan Asia Shipping ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ China Ocean Shipping Company (COSCO) ได้นำเอาเรือทั้งสองทดลองให้บริการขนส่งสินค้าในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดยเริ่มจากเส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-หนานจิง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่รัฐบาลจีนกำหนดขึ้น 

อนึ่ง COSCO Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการขนส่งรายใหญ่ที่สุดของจีน เกิดขึ้นจากควบรวมกิจการระหว่าง COSCO และ China Shipping เมื่อหลายปีก่อน และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้

ในด้านเทคนิค เรือดังกล่าวให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 19.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถทำระยะทางได้เกือบ 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จ จึงประเมินว่า เรือแต่ละลำจะช่วยให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้กว่า 15 ตัน เมื่อเทียบกับเรือคอนเทนเนอร์มาตรฐาน

จากข้อมูลของ Cosco เรือสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 3,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนํารถยนต์นั่งกว่า 2,000 คันออกจากท้องถนนหรือปลูกต้นไม้ถึง 160,000 ต้น 

บริษัทจึงคาดหวังว่า การใช้เรือไฟฟ้าเหล่านี้ จะช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศได้อย่างมีนัยสําคัญ ปลดเปลื้องจีนจากการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 1 ใน 3 ของโลก และอาจเป็นคําตอบในการโละเรือระบบสันดาปกว่า 50,000 ลําทั่วโลก สู่เรือพลังงานสีเขียวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

โดยที่แม่น้ำแยงซีเกียงถือเป็นแม่น้ำสายหลักสำหรับการขนส่งทางเรือ จึงมีเรือแล่นเข้าออกอย่างหนาแน่นเกือบตลอดเวลา การทดลองใช้เรือไฟฟ้า ยังจะช่วยลดมลพิษทางเสียงให้แก่ผู้คนที่ใช้ชีวิต หรือ ทำงานริมแม่น้ำแยงซีเกียงได้อย่างมากอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชยนาวียังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเรือลำดังกล่าวมีความจุแบตเตอรี่ 50,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยอาศัยการติดตั้งแบตเตอรี่ 24 ก้อน ที่แต่ละก้อนมีขนาดเท่ากับคอนเทนเนอร์ตู้สั้น (ตู้ขนาดความยาว 20 ฟุต) และแต่ละก้อนมีความจุไฟฟ้ากว่า 1,600 กิโลวัตต์ชั่วโมง

และโดยที่เรือชุดนี้สามารถเพิ่มแบตเตอรี่เป็นถึง 36 ก้อน ซึ่งจะขยายความจุไฟฟ้าได้ถึง 80,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้เรือชุดนี้สามารถเพิ่มระยะทางการให้บริการต่อการชาร์จได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ถูกออกแบบเป็นแบบถอดเปลี่ยนได้ และวางไว้ในภาชนะเฉพาะที่สามารถชาร์จในบริเวณท่าเรือ หรือ ใช้เครนยกเพื่อสลับแบตได้ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะเลือกใช้การสลับแบตเพื่อให้การให้บริการไม่ต้องเสียเวลาไปกับการชาร์จ

ผู้เชี่ยวชาญยังเปิดเผยว่า นอกเหนือจากการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แล้ว บริษัทยังปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างหลากหลายบนเรือแต่ละลํา ยกตัวอย่างเช่น เรือมีแพลตฟอร์มบูรณาการอัจฉริยะที่เชื่อมต่อระบบการนําทาง ห้องโดยสาร และการจัดการพลังงานไว้อย่างรอบด้าน รวมทั้งการเปิดให้ตู้คอนเทนเนอร์จำนวนราว 700 ตู้สั้น ที่ใช้บนเรือก็สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

และเพื่อให้การปฏิบัติงานดำเนินไปอย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงจากความท้าทายในบางด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุไฟไหม้ ในชั้นนี้ ลูกเรือทั้งหมดจึงได้รับการฝึกอบรมพิเศษในการตรวจจับอุบัติเหตุไฟไหม้ในกล่องแบตเตอรี่ล่วงหน้า และตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน 

ทั้งนี้ เนื่องจากอุบัติเหตุไฟไหม้ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียม ไม่สามารถดับด้วยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำได้ดังเช่นทั่วไปได้ แต่ต้องใช้ก๊าซดับเพลิงพิเศษซึ่งเป็นสารประกอบของคาร์บอน ฟลูออรีน และไฮโดรเจนเท่านั้น

ในเชิงธุรกิจ บริษัทมีแผนจะขยายกองเรือ “สีเขียว” เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต เพื่อหวังให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครือข่ายเรืออัจฉริยะสีเขียวของแม่น้ำแยงซีเกียงภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสูงสุด (Carbon Peak) ของจีน นั่นหมายความว่า “สิ่งแวดล้อม” จะเป็นประเด็นหลักในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 15 (ปี 2026-2030) ของจีนอย่างแน่นอน 

และโดยที่ปัจจุบัน ราว 15% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนมาจากภาคการขนส่ง ขณะที่การขนส่งทางน้ำมีสัดส่วน 6% เท่ากับว่าอุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำของจีน ปล่อยมลพิษเข้าสู่ระบบนิเวศในรูปของไนตริกออกไซด์ 1.5 ล้านตัน และอนุภาคอื่นอีกกว่า 60,000 ตันต่อปี ดังนั้น การพัฒนาเรือสีเขียวอาจเป็นคำตอบที่ดีของจีน 

เราจึงจะเห็นจีนสานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่แผ่ซ่านไปในอุตสาหกรรมการขนส่งและอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในอีกหลายแผนพัฒนาฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางด้านคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ที่จีนประกาศไว้ก่อนหน้านี้

หากพิจารณาจากตลาดในประเทศ ปัจจุบัน จีนมีจำนวนเรือราว 122,000 ลำ ในจำนวนนี้ มีเพียงไม่ถึง 1% ที่เป็นระบบไฟฟ้า ขณะเดียวกัน มากกว่า 50% ของเรือขนส่งภายในประเทศ เป็นเรือขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับการทดแทนด้วยเรือไฟฟ้า นั่นสะท้อนถึงศักยภาพของตลาดภายในประเทศ ที่จะเติบใหญ่ได้อีกมาก

ดังนั้น หาก “ถอดรหัส” นโยบายและโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว เราจะเห็นการวางแผนพัฒนาเรือไฟฟ้า และการก่อสร้างท่าเรือยุคใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการสลับแบต แท่นชาร์จแบตแบบเร็ว และอื่นๆ ที่มีมาตรฐานและความเป็นอัจฉริยะที่สามารถควบคุมทางไกลได้ 

                        จีนไม่หยุดทำสถิติเปิดตัวเรือคอนเทนเนอร์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน จีนยังอาจใช้ความได้เปรียบของขนาดตลาดในประเทศอันมหึมา (Scale) และขอบข่ายทางธุรกิจ (Scope) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Speed) เป็นโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยเดินหน้าผลิตเพื่อการส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วน ระบบส่งกำลัง บริการต่อเรือ แบตเตอรี่ และอื่นๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

ยิ่งในช่วงหลังนี้ รัฐบาลของชาติตะวันตกยังเตรียมเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเรือระบบสันดาปในอัตราที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บค่าปล่อยคาร์บอน กับเรือที่เข้าออกพื้นที่เริ่มจาก 40% ในปี 2024 เพิ่มเป็น 70% ในปี 2025 และ 100% ในปี 2026 จึงน่าจะเข้าทางเรือพลังงานทางเลือกเข้าไปอีก

แต่ “เรือไฟฟ้า” ก็ใช่ว่าจะลอยตัว เพราะนอกจากข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว เรือพลังงานสีเขียวอื่นก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน อาทิ เรือพลังงานไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเมธานอล ซึ่งให้แรงม้ามากกว่า เหมาะสำหรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่

ผมจำได้ว่า เมื่อปีก่อนได้อ่านข่าวเจอว่า สายการเดินเรือสำคัญของโลกอย่างน้อย 6 ราย อาทิ เมอร์สค์ (Maersk) ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม (CMA CGM) ฮาปาก-ลอยด์ (Hapag-Lloyd) เอเวอร์กรีน (Evergreen) และคอสโก (COSCO) อยู่ระหว่างการต่อและปรับเครื่องยนต์เรือไปเป็นแบบพลังงานแอมโมเนีย

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า หน้าตาของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางน้ำจะเปลี่ยนไปเป็นเช่นไร ...