มาคุยกันต่อเรื่องผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของ Made in China 2025 และการพัฒนาอุตสาหกรรม “วัสดุใหม่” ของจีนกันเลยครับ ...
ภายหลังการดำเนินนโยบาย MIC 2025 มาเกือบ 10 ปี ระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและการผลิตสินค้าภายในประเทศของจีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทะยานแซงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากความเป็น “โรงงานของโลก” ยุคใหม่ เราก็อาจเห็นธุรกิจน้อยใหญ่ของจีน ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก จนยากจะจดจำ อาทิ
•ไป่ตู้ (Baidu) เครื่องมือค้นหา ระบบนำร่อง ปัญญาประดิษฐ์ และยานยนต์ไร้คนขับ
•อาลีบาบา (Alibaba) เทนเซ้นต์ (Tencent) พินตัวตัว (Pinduoduo) และไบ้ต์แดนซ์ (Bytedance) ด้านอีคอมเมิร์ซ และสื่อสังคมออนไลน์
•เอสเอ็มไอซี (SMIC) เซมิคอนดักเตอร์
•หัวเหว่ย (Huawei) และ เสียวหมี่ (Xiaomi) ผู้นำในระบบการสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค รวมทั้ง บีเอไอซี (BAIC) บีวายดี (BYD) จี๋ลี่ (Geely) Li Auto (Li Auto) เสี่ยวเผิง (X-Peng) และ นีโอ (NIO) ผู้เชี่ยวชาญรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังขยับสู่รถยนต์ไร้คนขับอย่างจริงจัง
•ซีอาร์อาร์ซี (CRRC) เชี่ยวชาญด้านระบบราง อาทิ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า
•อี-หาง (E-Hang) ดีเจไอ (DJI) และ เวอร์แท๊กซี่ (Vertaxi) โดรน และโดรนไร้คนขับ
•โคแม็ค (COMAC) ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายแรกและรายเดียวของจีน
•บรรษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งชาติจีน (Aviation Industry Corp. of China) ด้านอวกาศ
•ชิโนฟาร์ม (Sinopharm) และ ชิโนแว็ค (Sinovac) ผู้ผลิตยาและวัคซีน
•บีอีเอ็มที (Beijing Easpring Material Tech.) เซ็มคอร์ป (Semcorp) สโตนเอจ (Stone Age) และ อี้ไห่ (Yihai) สตาร์ตอัพด้านวัสดุใหม่
ในส่วนหลังนี้ วัสดุใหม่ หมายถึง วัสดุที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นที่พิเศษกว่า หรือ วัสดุแบบดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ หลังจากการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในระดับกลางและตอนบนของห่วงโซ่อุตสาหกรรม
วัสดุใหม่นับว่ามีศักยภาพสูงในหลายด้าย อาทิ การยกระดับสินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเป็นมูลค่าเพิ่มสูง และการเป็นรากฐานด้านเทคโนโลยีสําหรับอุตสาหกรรมที่สําคัญอื่น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การบิน และ อวกาศ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพลังงานใหม่ รวมทั้งสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน
ด้วยคุณสมบัติทั้งในแง่ของการเป็น “พื้นฐาน” และ “เชื่อมโยง” เข้ากับหลายอุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีศักยภาพในระยะยาว อุตสาหกรรมวัสดุใหม่จึงแฝงไว้ซึ่งมูลค่าตลาดมหาศาล งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ในปี 2023 ขนาดอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านหยวน และดูเหมือนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน
ผมขอเรียนว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ วัสดุใหม่ถูกยกระดับเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับชาติ ผ่านนโยบาย MIC 2025 ซึ่งตามมาด้วยการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ให้ก้าวหน้าและพัฒนาความทันสมัยของจีน รัฐบาลจีนได้นำเสนอแนวทางใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่าน “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นับแต่แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 (2016-2020) เป็นต้นมา ซึ่งวัสดุใหม่อยู่ในลิสต์อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวด้วย
รัฐบาลท้องถิ่นในระดับมณฑล/มหานคร เช่น เซี่ยงไฮ้ ก็ “รับลูก” ออกแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยปรับปรุงความสามารถในการยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุในอนาคต
ผมยังสังเกตเห็นการยกระดับอุตสาหกรรมชั้นนําผ่านสวนอุตสาหกรรมในเซี่ยงไฮ้ ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการของหลายองค์กรในพื้นที่ สิ่งนี้ทำให้สวนอุตสาหกรรมเคมีเซี่ยงไฮ้ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของจีนในแง่ของการพัฒนาที่ครอบคลุม นำไปสู่การขยายตัวของการลงทุนในอัตราที่สูง และสร้างผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมเกือบ 200,000 ล้านหยวนในปีก่อน
นอกจากนี้ จีนยังได้กำหนดแนวทางในการจัดตั้งกลุ่มผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่แห่งชาติ ควบคู่ไปกับคู่มือการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ อันนำไปสู่การจัดตั้งแพลตฟอร์มสาธารณะบริการออนไลน์ สำหรับเทคโนโลยีดิจิตัลอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ในระดับท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนส่งเสริมด้านการเงินและการคลังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนการพัฒนาจำนวนมหาศาลภายใต้ MIC 2025 นำไปสู่ความเข้มข้นของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และ เป็นรูปธรรม อันนำไปสู่การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจำนวนมาก แถมยังให้ผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์ที่ดีอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นโครงสร้างอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของจีน ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทั้งในมิติของความสลับซับซ้อน ความละเมียด ความพิเศษสุด และอื่นๆ ซึ่งสนับสนุนการสร้างแบรนด์ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
เราเห็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์และพื้นที่สำคัญของจีน ต่างได้รับประโยชน์จากวัสดุใหม่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มจาก 3 พื้นที่หลักอย่าง “จิงจินจี้” บริเวณ “คอไก่” พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี “คอไก่” และบริเวณ “Greater Bay Area” “ท้องไก่” และกำลังกระจายไปสู่พื้นที่อื่นทั่วจีนในปัจจุบัน
มณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน ที่เดิมเศรษฐกิจพึ่งพาการทำเหมืองถ่านหินเป็นอย่างมาก ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมดังกล่าว ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ ที่มีคุณภาพสูง อาทิ โลหะขั้นสูง วัสดุใหม่ที่ทำจากคาร์บอนและชีวภาพ อโลหะแบบใหม่ และ วัสดุใหม่ล้ำสมัยอื่น
จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งมณฑลซานซี ระบุว่า ซานซีมีกิจการวัสดุใหม่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีกิจการรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 300 แห่ง สามารถสร้างรายได้หลายแสนล้านหยวนในปัจจุบัน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
การบูรณาการในเชิงนโยบาย ก็เป็นปัจจัยเชิงบวกเช่นกัน เพราะแม้กระทั่งเป้าหมายของจีนที่ต้องการบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในปี 2060 ก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่เช่นกัน
โดยที่อุตสาหกรรมวัสดุใหม่อยู่ในแถวหน้าของผู้ใช้พลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร้อนและไฟฟ้าจำนวนมาก ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การใช้พลังงานเหล่านี้ จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอน
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุใหม่ ยังพยายามเปลี่ยน “หน้าที่” การใช้ทรัพยากรฟอสซิลแบบเดิมจากการเป็น “เชื้อเพลิง” ไปเป็น “วัสดุ” ที่ให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า
จีนยังพยายามวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ จากหลายสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...