thansettakij
รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (1)

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (1)

16 ม.ค. 2568 | 04:29 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2568 | 04:44 น.

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก ( 1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4062

เมื่อปลายปี 2024 ผมมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยืยนเมือง “จิ่งเต๋อเจิ้น” (Jingdezhen) เป็นครั้งแรก และประทับใจในการนำเอา “จุดเด่น” ที่มีอยู่มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาเมือง จนต้องขอนำเอามาแชร์กับท่านผู้อ่านกันครับ ... 

จิ่งเต๋อเจิ้นถือเป็นเมืองระดับจังหวัด แบ่งออกเป็น 4 เขต ได้แก่ เขตจูซาน (Zhushan) มี่พื้นที่น้อยที่สุดตั้งอยู่ในตอนกลางของเมือง ชางเจียง (Changjiang) ด้านซีกตะวันตก ฟู่เหลียง (Fuliang) ที่มีพื้นที่มากที่สุดตั้งอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออก และ เล่อผิง (Leping) ทางตอนใต้ของเมือง 

จิ่งเต๋อเจิ้นตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือ ของมณฑลเจียงซี โดยด้านเหนือติดกับมณฑลอันฮุย และห่างจากนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียงทางด้านซีกตะวันออก ราว 400 กิโลเมตร ซึ่งในมาตรฐานของจีนในปัจจุบันและอนาคต ก็ถือได้ว่าจิ่งเต๋อเจิ้นตั้งอยู่ “ไม่ไกล” จากหัวเมืองใหญ่มากนัก เพราะเราสามารถเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงโดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น  

จิ่งเต๋อเจิ้นมีโครงข่ายด้านการคมนาคมที่ดี โดยจัดเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจียงซี โดยในอดีต การขนส่งเครื่องเคลือบดินเผาอาศัยเส้นทางน้ำเป็นหลัก โดยสามารถเชื่อมต่อไปจนถึงชายฝั่งด้านซีกตะวันออกของจีน เพื่อการส่งออกได้ 

แต่ปัจจุบัน เมืองนี้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับหัวเมืองหลักอื่นๆ ของจีน ด้วยโครงข่ายถนนและราง รวมทั้งยังมีสนามบินตั้งอยู่ทางซีกตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ห่างจากใจกลางเมืองไม่ถึง 10 กิโลเมตร และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของมณฑลเจียงซี รองจากหนานชาง ทำให้ผู้คนและสินค้าในเมืองนี้สามารถเชื่อมโยงกับเมืองหลัก อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น เฉิงตู หางโจว คุนหมิง เซียะเหมิน และซีอาน ได้อย่างสะดวก 

ปัจจุบัน จิ่งเต๋อเจิ้นมีประชากรไม่ถึง 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 5,250 ตารางกิโลเมตร จึงจัดเป็นเมืองที่ไม่หนาแน่น เพราะในเชิงเปรียบเทียบ จิ่งเต๋อเจิ้นก็มีประชากรน้อยกว่า กทม. ถึงราว 5 เท่า แต่มีขนาดพื้นที่ใหญ่มากกว่า 3 เท่า

                          รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (1)

แม้ว่าจะไม่ใช่เมืองใหญ่ของจีน แต่ความประทับใจแรกของผมเกิดขึ้นตั้งแต่อึดใจแรกเมื่อไปถึงย่าน “เมืองใหม่” ของจิ่งเต๋อเจิ้น  

จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นได้รับทราบว่า รัฐบาลเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ริเริ่มโครงการพัฒนาเมืองใหม่ในช่วงวิกฤติโควิด เมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา และตอนที่ผมมีโอกาสไปส่องเมืองนี้ เมื่อปลายปี 2024 ก็พบว่า ย่านเมืองใหม่มีความคืบหน้าไปมากและพร้อมอวดโฉมแล้ว  

ในการพัฒนาเมืองใหม่ รัฐบาลเลือกใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองเก่ามาปรับปรุง โรงงาน โกดัง และปล่องไฟเดิมจำนวนมากถูกดัดแปลง ห่อหุ้ม และตกแต่งด้วย “อิฐมอญ” ทำให้ดูทันสมัย แต่คงอนุรักษ์ความเป็นเมืองแห่งเครื่องเคลือบดินเผาเอาไว้ได้  

ขณะเดียวกัน อาคารใหม่นับร้อยแห่งที่ผุดขึ้น ก็ถูกออกแบบในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สอดรับกัน ทำให้ย่านเมืองใหม่ดูเท่ห์ มีอัตลักษณ์ และสะอาดตาเป็นอย่างมาก  

ในระหว่างที่นั่งรถยนต์แล่นลัดเลาะไปตามถนนสายหลักและรองของเมือง ผมสังเกตเห็นว่า มีโรงงานและอาคารอีกเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและปรับปรุง ผมจึงบอกกับตัวเองว่า ผมต้องหาโอกาสไปเยือนเมืองนี้อีกในอนาคต เพราะเชื่อมั่นว่าผมจะได้มีโอกาสชื่นชมพัฒนาการของ “เมืองใหม่” ที่กว้างใหญ่มากขึ้นอย่างแน่นอน  แม้กระทั่งซีกเมืองเก่าก็คงถูกพลิกโฉมภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

ท่านผู้อ่านอาจเกิดคำถามสงสัยว่า ย่านเมืองเก่าและเมืองใหม่ของจิ่งเต๋อเจิ้นอยู่ห่างกันขนาดไหน ผมก็ขอบอกว่า สองย่านดังกล่าวอยู่ห่างกันเพียงข้ามถนนสายหลักของเมืองเท่านั้น  

เรียกว่าเพียงมอง หรือ เดินข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง เราก็สามารถสัมผัสถึงความแตกต่างในด้านสถาปัตยกรรมได้อย่างสุดขั้ว 

ย่านเมืองเก่าของจิ่งเต๋อเจิ้น มีสภาพเหมือนเมืองรองระดับที่ 4-5 ของจีน ที่รอการพัฒนา แต่ก็เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญของเมืองในหลายส่วน อาทิ พิพิธภัณฑ์ บ้านเศรษฐีโบราณ และ หมู่บ้านทำเครื่องเคลือบดินเผาแต่ครั้งในอดีต 

โดยที่บริเวณตัวเมืองมีลักษณะเป็นเนินเขา ทำให้ผมสังเกตเห็นคนท้องถิ่นนิยมใช้ “จักรยานไฟฟ้า” อย่างแพร่หลาย ในแหล่งชุมชนย่านเมืองเก่าก็มี “ร้านจำหน่าย” และ “จุดเช่า” จักรยานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก  

กอปรกับสภาพบ้านเมืองที่อยู่ระหว่างการพัฒนาดังกล่าว ทำให้มีการก่อสร้างและปรับปรุงถนนและอาคารในหลายพื้นที่ของเมือง ส่งผลให้การจราจรภายในตัวเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน ดูจอแจและวุ่นวายอยู่พอควร  

                      รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (1)

จะเห็นได้ว่าผมเกริ่นเกี่ยวกับ “เครื่องเคลือบดินเผา” ของเมืองนี้อยู่หลายรอบก่อนหน้านี้ และนั่นเป็นความประทับใจที่ 2 ที่ผมอยากชวนคุย เพราะจิ่งเต๋อเจิ้นได้นำเอา “จุดแข็ง” ที่ได้สั่งสมไว้แต่ในอดีตกลับมาเป็น “หัวใจ” ของการพัฒนาอีกครั้ง และอาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยเราได้เรียนลัด 

ท่านผู้อ่านต่างทราบดีว่า จีนในภาพใหญ่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ ในความเป็นเจ้าแห่งเครื่องเคลือบดินเผาอยู่เป็นทุนเดินอยู่แล้ว เครื่องเคลือบดินเผาชื่อดังของโลกในชื่อ “โบนไชน่า” (Bone China) บ่งบอกถึงเครื่องถ้วยชามคุณภาพชั้นเลิศของจีนได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้ แหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาชื่อดังที่สุดของจีน ก็อยู่ที่จิ่งเต๋อเจิ้นนี่เอง ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน แหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และการออกแบบที่วิจิตรบรรจง จิ่งเต๋อเจิ้นจึงเป็นฐานการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่สำคัญและมีคุณภาพดีที่สุดของจีน 

เครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้นมีจุดเด่น ในความเงาวาวเหมือนกระจก บางเหมือนกระดาษ และเสียงเคาะไพเราะกังวาน ส่งผลให้เมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในสมญานาม “เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผา” (Capital of Porcelain) มาเป็นเวลานานกว่า 1,000 ปี ซึ่งทำให้บางส่วนขนานนามเมืองนี้ว่าเป็น “เมืองเครื่องเคลือบพันปี”

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว จิ่งเต๋อเจิ้นได้ชื่อตามรัชสมัยของจักรพรรดิ “เจิ้นจง” (Emperor Zhenzong) แห่งราชวงศ์ซ่ง (Song) โดยยังคงใช้คำว่า “Zhen” ซึ่งแปลว่า “อำเภอ” ไว้ในชื่อเมือง แทนที่จะเปลี่ยนเป็นคำว่า “Shi” (ชื่อ) ซึ่งแปลว่า “เมือง”

นอกจาก ประวัติศาสตร์อันยาวนานแล้ว จิ่งเต๋อเจิ้นยังซ่อนไว้ซึ่ง “ข้อดี” อยู่อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น หลังจากจีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเพียงไม่ถึง 4 ปี จิ่งเต๋อเจิ้นก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 24 เมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชั้นนำของจีน และได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา   

จุดเด่นดังกล่าวนำไปสู่คำกล่าวยอดนิยมที่ว่า “จิ่งเต๋อเจิ้นถือกำเนิดจากเครื่องเคลือบดินเผา ตั้งตัวด้วยเครื่องเคลือบดินเผา และเจริญรุ่งเรืองด้วยเครื่องเคลือบดินเผา”

จึงไม่น่าแปลกใจที่จิ่งเต๋อเจิ้นได้พัฒนาจากตำบลเล็กๆ ที่ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาในอดีต ไปสู่เมืองที่มีชื่อเสียงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทั้งในตลาดจีน และเวทีโลกในปัจจุบัน 

เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าว่า จิ่งเต๋อเจิ้นทำอย่างไรจึงสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็น “เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผาของจีนในยุคใหม่” ได้ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน