บัญชีเงินฝากเพื่อผู้เยาว์ เป็นการออมเงินเพื่อให้บุตร หรือ ผู้เยาว์ไว้ใช้จ่ายในอนาคต เมื่อมีอายุครบตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น บรรลุนิติภาวะโดยมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บุตรจึงจะสามารถเป็นผู้เบิกเงินนั้นมาใช้ได้
บัญชีเงินฝากเพื่อผู้เยาว์ดังกล่าว ... จะมาเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ภาษีอากรของบิดา จนกลายมาเป็นคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครองได้อย่างไร นายปกครองจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ ...
เป็นที่ทราบกันว่า หากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ชำระหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน หรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งทำให้เกิดหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระ โดยประมวลกฎหมายรัษฎากรได้กำหนดบทลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม รวมทั้งโทษทางอาญา และให้อำนาจแก่กรมสรรพากรบังคับชำระหนี้ภาษีอากร โดยยึด อายัด และ ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรได้
ข้อพิพาทเรื่องนี้ ... เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร คือ นายทองก้อน ได้มีหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระ โดยกรมสรรพากรเห็นว่า นายทองก้อน ไม่มีเงินชำระหนี้ แต่กลับมีเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อผู้เยาว์ คือ บุตร อันผิดวิสัยของบุคคลที่ไม่มีเงินมาชำระหนี้สิน พฤติการณ์ส่อไปในทางหลีกเลี่ยงภาษี
กรมสรรพากรจึงได้แจ้งคำสั่งให้ ธนาคารออมสิน อายัดทรัพย์สินของ นายทองก้อน โดยอายัดสิทธิเรียกร้องของ นายทองก้อน ในบัญชีเงินฝาก ชื่อ นายทองก้อน เพื่อ ด.ช.ทองม้วน และให้นำส่งเงินแก่กรมสรรพากรภายใน 7 วัน
ผู้จัดการธนาคารเห็นว่า เป็นบัญชีเงินฝากเพื่อผู้เยาว์ย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ตั้งแต่เปิดบัญชี โดยจะถอนได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์เท่านั้น จึงมีหนังสือชี้แจงว่า ไม่สามารถนำส่งเงินได้
ไม่นานนัก กรมสรรพากรก็ได้แจ้งให้นำส่งเงินตามคำสั่งอายัดอีกครั้ง แต่ผู้จัดการยังคงปฏิเสธตามเหตุผลเดิม กรมสรรพากร จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้นำส่งเงินดังกล่าว แต่ผู้อำนวยการฝ่ายคดีของธนาคารได้มีหนังสือคัดค้านการส่งเงินตามคำสั่งอายัด และให้ยกเลิกคำสั่งอายัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา กรมสรรพากรได้แจ้งธนาคารออมสินว่า หนังสือคัดค้านคำสั่งอายัดได้ยื่นเกินกำหนดระยะเวลา จึงไม่รับไว้พิจารณา ผู้อำนวยการฝ่ายคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับเรื่องคัดค้านไว้พิจารณา และขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าว
แต่กรมสรรพากรยืนยันตามเดิมว่า ไม่อาจรับพิจารณาการคัดค้านคำสั่งอายัดได้ ธนาคารออมสินจึงยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่พิพาท
คดีมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ธนาคารออมสินมีสิทธิยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลปกครองหรือไม่? เนื่องจากกรมสรรพากรเห็นว่า ธนาคารออมสินยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายก่อนฟ้องคดี เพราะมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอายัดภายในกำหนดเวลา จึงถือว่าไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการคัดค้านตามข้อ 6 ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สิน ตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546 อันทำให้ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินฯ ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดกรณีพิพาท (ข้อ 6 ประกอบข้อ 12) เห็นได้ว่า การคัดค้านคำสั่งอายัดภายในกำหนดเวลาที่ระบุในคำสั่งตามแบบ ภ.ส. 17/1 ก็ดี
หรือ กรณีได้รับคำสั่งอายัดแล้วมิได้โต้แย้งหนี้ อันเป็นการไม่คัดค้านคำสั่งอายัดภายในกำหนดเวลาก็ดี เจ้าพนักงานก็มีหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวเหมือนกัน จึงถือได้ว่ากฎหมายภาษีอากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติไว้เป็นการเฉพาะ
และแสดงให้เห็นว่า การคัดค้านคำสั่งอายัดตามระเบียบดังกล่าว มิได้มีลักษณะเป็นอุทธรณ์บังคับภายในฝ่ายปกครอง กรณีจึงมิใช่ขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ที่จะต้องดำเนินการก่อนฟ้องคดี
ฉะนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งอายัดไม่ชอบ จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอายัดก่อนแต่อย่างใด ธนาคารออมสินจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง
ประเด็นปัญหาที่พิจารณาต่อมา คือ คำสั่งที่ให้ธนาคารออมสินอายัดสิทธิเรียกร้องของ นายทองก้อน ในบัญชีเงินฝากเพื่อผู้เยาว์ หรือ บุตร โดยให้นำส่งเงินแก่กรมสรรพากร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า สิทธิเรียกร้องที่กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้จะออกคำสั่งให้อายัดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรนั้น จะต้องเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (นายท้องก้อน) ต่อทรัพย์สินที่เป็นของลูกหนี้เท่านั้น
เมื่อบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ข้อ 13 และข้อ 14 (ใช้บังคับขณะนั้น) ซึ่งการที่จะถอนได้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์เท่านั้น และเมื่อผู้เยาว์มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ธนาคารจะแจ้งให้ผู้ฝากโอนเงินฝากโดยปิดบัญชีเดิม และเปิดบัญชีใหม่ในนามของผู้เยาว์ที่บรรลุนิติภาวะนั้น
ดังนั้น เงินฝากในบัญชีดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินของ นายทองก้อน ซึ่งเป็นผู้ค้างชำระภาษีอากรแต่อย่างใด การที่กรมสรรพากรออกคำสั่งอายัดที่พิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งการที่ นายทองก้อน นำเงินไปฝากในบัญชีเพื่อผู้เยาว์เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติวิสัยของบิดา ที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรจะกระทำ ประกอบกับจำนวนเงินที่นำไปฝาก มิได้สูงผิดปกติ จนถือได้ว่าเป็นการยักย้าย ปิดบัง หรือ ซ่อนเร้น อันเป็นการหลบเลี่ยงการติดตามเร่งรัดเพื่อจัดเก็บภาษี หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของกรมสรรพากร (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 17/2566)
คดีดังกล่าวสรุปได้ว่า กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้จะออกคำสั่งให้อายัดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรได้ จะต้องเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ต่อทรัพย์สินที่เป็นของลูกหนี้เท่านั้น
โดยกรณีบัญชีเงินฝากที่เป็นชื่อของลูกหนี้เพื่อบุตรของตน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎกระทรวงข้างต้น กรมสรรพากรไม่อาจออกคำสั่งอายัดได้ เพราะเงินฝากในบัญชีดังกล่าวตกเป็นของผู้เยาว์ อันมิใช่ทรัพย์สินของบิดาที่เป็นลูกหนี้ หรือผู้ค้างชำระภาษีอากร
ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้ค้างชำระภาษี ไม่เข้าลักษณะเป็นการยักย้าย ปิดบัง หรือ ซ่อนเร้น อันเป็นการหลบเลี่ยงการชำระหนี้ภาษีอากร เนื่องจากมีการนำเงินไปฝากในบัญชีดังกล่าวเฉลี่ยเพียงปีละ 1 ครั้ง อันเป็นปกติวิสัยของบิดา ที่จะพึงกระทำให้บุตร และจำนวนเงินที่ฝากก็มิได้สูงผิดปกติแต่อย่างใด ... นั่นเอง
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 )