ฟ้องขอให้เครื่องจำหน่ายตั๋วรถไฟฟ้ารับธนบัตรรุ่นใหม่ได้หรือไม่!?

30 มี.ค. 2567 | 23:30 น.

ฟ้องขอให้เครื่องจำหน่ายตั๋วรถไฟฟ้ารับธนบัตรรุ่นใหม่ได้หรือไม่!? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3979

“รถไฟฟ้า จุดเปลี่ยนชีวิตคนเมือง” นายปกครองเชื่อว่า หลายคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คงคุ้นเคยกับการใช้บริการรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีให้บริการทั้งบนดินและใต้ดิน แถมมีหลายสาย หลายสี แค่กดเลือกสถานีก็สามารถชำระเงินซื้อตั๋วจากตู้อัตโนมัติได้ ทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ... 

ติดอยู่นิดเดียวจริง ๆ ตรงที่ ... เครื่องหรือตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่ว่า ไม่รับแบงก์ยี่สิบรุ่นใหม่ที่ผลิตจากพอลิเมอร์ และค่าโดยสารที่แอบแพงไปหน่อย ! ทำให้หลายคนไม่อาจใช้บริการกันได้บ่อยๆ หรือไม่อาจใช้บริการได้ทุกวัน! 

เรื่องการซื้อตั๋ว หรือ บัตรโดยสารผ่านเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติดังกล่าว ได้มีผู้นำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจว่า ข้อพิพาทที่โต้แย้งเกี่ยวกับการขอให้ปรับปรุงระบบการใช้งานของเครื่องจำหน่ายตั๋ว ที่ไม่รับธนบัตรราคา 20 บาท (แบบใหม่) ที่ผลิตจากพอลิเมอร์ จะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่? 

นายปกครองจะพานั่งรถไฟฟ้าไปหาคำตอบที่สถานีศูนย์ราชการฯ ณ ศาลปกครอง ครับ ! 

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก ... คุณแบงก์ใหม่ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่เป็นประจำ เกิดขัดข้องใจขึ้นมาว่า เหตุใดเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติไม่สามารถใช้ได้กับธนบัตรราคา 20 บาท (แบบใหม่) ที่ผลิตจากพอลิเมอร์ แต่สามารถใช้กับธนบัตรแบบเก่าที่ผลิตจากกระดาษได้

จึงร้องเรียนต่อบริษัท รถไฟฟ้าฯ ผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งได้รับแจ้งว่า มีการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อคุณแบงก์ใหม่มาใช้บริการอีกครั้ง พบว่ายังไม่ได้รับการแก้ไข จึงติดตามเรื่อง แต่เรื่องก็เงียบไป 

คุณแบงก์ใหม่เห็นว่า การเพิกเฉยไม่แก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียน ทำให้ตนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ อีกทั้งเป็นการยากที่จะต้องให้ประชาชนหาธนบัตรราคา 20 บาท ที่ผลิตจากกระดาษมาใช้ เพราะได้เลิกผลิตไปแล้ว

จึงยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้าฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ร่วมกันปรับปรุงเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติของรถไฟฟ้าสายสีแดง ทุกสถานีและทุกเครื่องให้สามารถใช้กับธนบัตรราคา 20 บาท แบบใหม่ได้

ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า การปรับปรุง หรือ จัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีการชำระค่าบริการการใช้รถไฟฟ้า เป็นเรื่องทางนโยบายในการบริหารกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงไปใช้อำนาจกำหนดรายละเอียด หรือ วิธีการในการปฏิบัติหน้าที่แทนได้ 

คำขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อศาลปกครองสูงสุด 

เรื่องนี้ ... ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีอำนาจที่จะกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 ซึ่งรวมถึงการจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าโดยสาร และการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามสามารถริเริ่มจัดทำบริการสาธารณะได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้มีผู้ร้องขอ

เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง และอ้างว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ไม่จัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน โดยเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา กรณีเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ ไม่สามารถใช้กับธนบัตรแบบพอลิเมอร์ได้ เป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ 

และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ร่วมกันปรับปรุงเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติดังกล่าว ให้สามารถใช้กับธนบัตรราคา 20 บาท ซึ่งผลิตจากพอลิเมอร์ได้ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

ผู้ฟ้องคดีจึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม และคำขอตามฟ้องศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (สั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด)

ประกอบกับการฟ้องคดีพิพาทประเภทนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอน หรือ วิธีการดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายไว้โดยเฉพาะก่อนนำคดีมาฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง

การที่ผู้ฟ้องคดีมีข้อร้องเรียนต่อบริษัทรถไฟฟ้าฯ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และต่อมาเมื่อได้ไปใช้บริการอีกครั้ง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พบว่า ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาตามที่ร้องเรียน ถือได้ว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ 

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1837/2566) 

จากคดีดังกล่าว ... ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนในเรื่องความเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบ หรือ วิธีชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า เช่น เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติไม่รับธนบัตรที่ผลิตจากพอลิเมอร์ อันเป็นบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของการรถไฟฯ และ บริษัท รถไฟฟ้าฯ โดยถือว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายปกครองดังกล่าว สามารถริเริ่มจัดทำได้เอง 

เมื่อผู้ใช้บริการได้ร้องเรียนปัญหาในการใช้บริการแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข จึงถือว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)