ฟ้องห้ามเพื่อนบ้านประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกในบ้านพัก

04 ส.ค. 2567 | 10:03 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2567 | 10:10 น.

ฟ้องห้ามเพื่อนบ้านประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกในบ้านพัก : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4015

เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นในบ้านเรือน ชุมชน โรงงาน หรือ สถานที่ใด ๆ ก็มักก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก ตามที่เราเห็นเป็นข่าวคราวในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งอัคคีภัย หรือ เพลิงไหม้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ เช่น การใช้ความระมัดระวังรอบคอบ การตรวจตราและเปลี่ยนสายไฟที่เก่าหรือชำรุด การปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่มีการครอบครองวัตถุไวไฟ ฯลฯ 

โดยคดีที่นำมาเล่าในวันนี้ เกิดจากเพื่อนบ้านข้างเคียงมีความกังวลว่า บ้านที่ประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งห่างจากบ้านของตนประมาณ 50 เมตร จะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ให้มีการจัดเก็บเม็ดพลาสติกไว้ที่บ้าน หรือ เลิกกิจการ 

บทสรุปของเรื่องนี้ ... จะเป็นอย่างไร นายปกครองมีคำตอบมาเล่าให้ฟังครับ 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีซึ่งได้พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านที่ประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติก เห็นว่า เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุไวไฟ และเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จึงได้มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการเขต รวมทั้งหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล  

ต่อมา ผู้อำนวยการเขตได้มีหนังสือแจ้งว่า การจัดเก็บเม็ดพลาสติก ไม่เข้านิยามเป็นวัตถุไวไฟ และไม่เข้าข่ายประเภทกิจการควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และได้มีการนำถังดับเพลิงมาติดตั้งไว้จำนวน 2 ถัง จึงเป็นมาตรการสำหรับป้องกันไฟไหม้ที่เพียงพอแล้ว 

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขต (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง ว่า เจ้าหน้าที่ดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันเหตุจากอัคคีภัยให้แก่ประชาชนและผู้ฟ้องคดี 

คดีมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ผู้อำนวยการเขต และหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม และสุขาภิบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้หรือไม่?  

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอาคารพิพาทแล้ว พบว่า มีการเก็บสินค้าเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลบรรจุกระสอบไว้จำนวนมาก ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมขนส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อ โดยไม่พบว่า มีกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก และเม็ดพลาสติกไม่เข้านิยามเป็นวัตถุไวไฟ  

การจัดเก็บเพื่อจำหน่ายจึงไม่เข้าข่ายประเภทกิจการควบคุมตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2546 รวมทั้งไม่เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ต้องควบคุมตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 

ดังนั้น การประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จึงสามารถกระทำได้ อีกทั้งผู้ครอบครองอาคารมีพฤติการณ์ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ในการจัดหาอุปกรณ์เพื่อป้องกันอัคคีภัย กรณีถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการตามหน้าที่ในการตรวจสอบและป้องกันอัคคีภัยแล้ว โดยมิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 73 วรรคสาม บัญญัติให้กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริง หรือ ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระ อันควรได้รับการวินิจฉัยจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้ 

และประกาศประธานศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่ไม่หนักแน่น หรือ เพียงพอในการสนับสนุนข้อกล่าวอ้างตามคำอุทธรณ์ อันอาจทำให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคดีแตกต่างไปจากศาลปกครองชั้นต้นได้ ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย 

(1) เป็นอุทธรณ์ที่คัดค้านเนื้อหาของคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่าไม่ถูกต้อง แต่ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างในคำอุทธรณ์ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นใดๆ หรือประเด็นที่ศาลจำเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัยคดี หรือเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลปกครองชั้นต้น หรือเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้อุทธรณ์ได้เคยยอมรับไว้แล้วในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น…

                        ฟ้องห้ามเพื่อนบ้านประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกในบ้านพัก

โดยศาลได้พิจารณาเนื้อหาสาระคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้มีการเคลื่อนย้ายเม็ดพลาสติก เนื่องจากการจัดเก็บจำนวนมาก มีลักษณะเป็นอันตรายต่อบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดี และพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียง แม้จะมีการติดตั้งถังดับเพลิงเคมีแห้ง จำนวน 2 ถัง แต่ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันเหตุอัคคีภัยที่พอเพียงแล้ว  

ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า การประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสามารถกระทำได้ และการจัดเก็บวัตถุดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อเตรียมส่งต่อให้ลูกค้าเท่านั้น โดยมิใช่กรณีเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย และไม่เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ผู้ฟ้องคดียกขึ้นมากล่าวอ้างในอุทธรณ์ มีลักษณะเป็นคำอุทธรณ์ที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังข้อเท็จจริง และการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลปกครองชั้นต้น อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 473/2566)

สรุปได้ว่า การประกอบกิจการจัดเก็บเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อขายต่อ ซึ่งไม่ได้มีกระบวนการผลิต ไม่ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเม็ดพลาสติกไม่มีลักษณะเป็นวัตถุไวไฟตามกฎหมาย 

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ และผู้ประกอบกิจการให้ความร่วมมือโดยมีการติดตั้งถังดับเพลิง กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  นอกจากนี้ การอุทธรณ์คดีหากมีลักษณะไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้ นั่นเองครับ ... 
 

(ปรึกษาการฟ้องคดีได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)