ถูกสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานเหตุพบสารต้องห้ามในผัก!

14 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

ถูกสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานเหตุพบสารต้องห้ามในผัก! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4024

ปัจจุบัน ... ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและนิยมรับประทาน “ผักและผลไม้” กันมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญของร่างกาย ช่วยให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายทำงานได้ตามปกติ รวมทั้งผักและผลไม้บางชนิดยังมีสารที่ทำหน้าที่ป้องกันและบรรเทาโรคบางอย่างได้ดีอีกด้วย 

ปัญหาความกังวลของผู้บริโภคที่ตามมาก็คือ ผักผลไม้ที่รับประทานไปนั้นมีสารพิษหรือยาฆ่าแมลงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่? ผู้บริโภคบางส่วนจึงหันมาพึ่งผักผลไม้ปลอดสารพิษหรือปลูกแบบออร์แกนิก แต่ด้วยบ้านเรามีผักผลไม้ออร์แกนิกขายอยู่เพียงน้อยนิด หนำซ้ำยังมีราคาแพง การเลือกซื้อแต่ผักผลไม้ออร์แกนิก จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลาย ๆ คน  

ดังนั้น การควบคุมตรวจสอบการปลูก หรือแหล่งที่มาของผักผลไม้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ หาไม่แล้วอาจเป็นการสะสมสารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนมากับผักและผลไม้จนกลายเป็นตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัว 

วันนี้นายปกครองมีอุทาหรณ์เกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ถูกสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืช ซึ่งเป็นผลจากการสุ่มตรวจผัก แล้วพบสารปนเปื้อนต้องห้าม เรื่องราวจะเป็นอย่างไร และคำสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานดังกล่าว จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เชิญติดตามครับ

เหตุของคดีนี้เกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกอบกิจการขายส่งผักและผลไม้ รวมทั้งส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ต่อมาผู้ตรวจประเมินของกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ. 2553 โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่าง โหระพา เพื่อส่งกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชทำการตรวจวิเคราะห์ แต่เนื่องจากตัวอย่างที่เก็บเสียหาย (ตายนึ่ง) จึงยังไม่ได้ทำการตรวจสอบ 

หลังจากนั้น 2 วัน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชได้โทรศัพท์แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำตัวอย่างโหระพามาให้ตรวจใหม่ ซึ่งนายมี (คนขับรถของผู้ฟ้องคดี) ได้นำโหระพาส่งตรวจวิเคราะห์ ซึ่งผลปรากฏว่า พบสารคาร์โบฟูแรน - ไตรไฮดรอกซี่ (สารต้องห้ามตามกฎหมาย) ผู้อำนวยการกองฯ จึงแจ้งเตือนผู้ฟ้องคดีครั้งที่ 1 พร้อมให้ผู้ฟ้องคดีตรวจหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขแล้วชี้แจงให้ทราบ 

ต่อมา ผู้ตรวจประเมินได้เข้าตรวจพร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุดท้ายของถั่วฝักยาว ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งพบสารต้องห้าม คือ ไอโซโพรคาร์บ ผู้อำนวยการกองฯ จึงแจ้งเตือนผู้ฟ้องคดีเป็นครั้งที่ 2 และสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืช ตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชของผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 15 วัน

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คำสั่ง แต่กรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้วยืนยันการพักใช้ใบรับรองดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผักที่นำไปตรวจไม่ใช่ของตน อีกทั้งไม่เคยมอบหมายให้คนขับรถนำตัวอย่างโหระพาไปส่งที่กองกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช จึงฟ้องกรมวิชาการเกษตรและผู้อำนวยการกองฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทและชดใช้ค่าเสียหาย

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้อำนวยการกองฯ ที่สั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานของผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 15 วัน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?  

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมวิชาการเกษตรและผู้อำนวยการกองฯ ให้การว่า ได้มีการโทรศัพท์แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีส่งตัวอย่างโหระพารุ่นเดียวกัน มาส่งให้กองพัฒนาระบบฯ ตรวจสอบ ประกอบกับข้อมูลตามบันทึกการสุ่มตัวอย่าง ที่ได้ระบุวันตรวจสอบเป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการโทรศัพท์ดังกล่าว โดยมีนายมี (คนขับรถของผู้ฟ้องคดี) เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาแปลงโหระพา ที่นำส่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นายมี รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจประเมินครั้งก่อนหน้า และได้ทำการเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีในการส่งตัวอย่างโหระพา ให้แก่กองพัฒนาระบบฯ ทำการตรวจสอบ 

กรณีจึงถือว่า ผู้ฟ้องคดีได้อำนวยความสะดวกในการตรวจประเมิน โดยให้คนขับรถนำส่งตัวอย่างให้แก่ผู้ตรวจประเมิน ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามระเบียบข้างต้น (ข้อ 8) และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ใช้ตัวอย่างโหระพา มาทำการตรวจแล้วพบสารต้องห้าม การที่ผู้อำนวยการกองฯ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ฟ้องคดีครั้งที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ชอบตามระเบียบดังกล่าวแล้ว 

อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งคัดค้านผลจากการตรวจติดตาม ซึ่งพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร ครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งเตือนครั้งที่ 1 อันมีผลให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานของผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 15 วัน ได้  

ฉะนั้น การสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานของผู้ฟ้องคดีมีกำหนด 15 วัน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยืนยันการพักใช้ใบรับรองดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่เป็นการกระทำละเมิด

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 25/2565) 

คดีนี้ ... ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้สนใจ หรือ ผู้ที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผักและผลไม้ ทั้งในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้สารเคมีต้องห้ามในพืชผัก นอกจากเพื่อมิให้การดำเนินธุรกิจของตนต้องหยุดชะงัก อันเนื่องมาจากการถูกตรวจสอบและถูกสั่งพักใช้ใบรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชแล้ว ยังเป็นโทษภัยกับผู้บริโภคที่ต้องควรคำนึงอย่างมาก  

ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือ หรือ ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการผลิตเพื่อส่งออกด้วยแล้วเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากตรวจพบสารเคมีต้องห้ามปนเปื้อนในพืชผักและผลไม้ ที่ส่งออกต่างประเทศ อาจลุกลามกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม หรือ อาจถูกห้ามนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากประเทศไทยได้ครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีปกครองได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์”) https://aclib.admincourt.go.th/